|
ความชุกของโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากมาย จากการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระหว่างปี 2533 2539 พบว่าคนไทยเป็นโรคหืดเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว และที่น่าตกใจมากคือ ภาวะภูมิแพ้ที่ปรากฎอาการทางจมูกเหมือนคนเป็นหวัดเรื้อรัง ( allergic rhinitis ) ซึ่งแม้จะเพิ่มขึ้นเพียง 2 เท่า แต่ปริมาณที่เพิ่มนั้นสูงมาก คือ เพิ่มถึง 1 : 2 คือ หมายความว่าเด็ก ๆ ที่เดินอยู่ข้างถนนนั้นครึ่งหนึ่งจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ของจมูก
สาเหตุที่เพิ่มขึ้นเกิดจากอะไรคงจะดูได้จากปัจจัยเสียงที่เป็นสาเหตุนำไปสู่โรคหืดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจากพันธุกรรม ประวัติครอบครัว การก่อภูมิแพ้ ( allergens ) การติดเชื้อ และ การสูบบุหรี่ เป็นต้น เมื่อปี 2495 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีคนตายหลายพันคนและมีผู้ล้มป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจอีกมากมายซึ่งจากการศึกษาประวัติทางระบาดวิทยา พบว่ามาจากมลภาวะในอากาศ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และหมอกควัน เป็นต้น โดยเราทราบดีว่าปัจจัยทั้งสองนี้มาจากอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินเป็นส่วนใหญ่ มลภาวะดังกล่าวจัดว่าเป็นปรากฎการณ์ของโลกเก่า แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวลดลงมาก แต่ก็เกิดมลภาวะชนิดใหม่เป็นสารเคมีที่เรียกว่า ฟลูออโรเคมิคัล ออกซิแดนท์ ที่กลายเป็นมลพิษของโลกใหม่ โดยเป็นผลจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงทั้งหลาย เช่น จากรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งก่อให้เกิดไนโตรเจนออกไซด์แล้วถูกรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดเปลี่ยนเป็นโอโซน ในประเทศไทยหมอกควันเหล่านี้คือฝุ่นละอองซึ่งมีแหล่งมาทั้งจากที่ดิน ทะเล โรงงาน การก่อสร้าง และ รถยนต์ ปรากฎปริมาณสูงมากอย่างเช่นที่ประตูน้ำ บางแห่งมีปริมาณที่เรียกว่า TSP สูงถึง 2000 ทั้ง ๆ ที่ระดับที่ควรจะได้รับอยู่ที่ 330 เท่านั้น คำถามมีว่า เราจะใส่หน้ากากอย่างที่ตำรวจจราจรในหลายท้องที่ใช้อยู่อย่างนี้ต่อไปหรือเราควรจะห้ามรถยนต์ออกมาแล่น ? บรรดาฝุ่นละอองทั้งหลายนั้น ปัจจุบันเราทราบดีว่าฝุ่นขนาดใหญ่ ( particulate matter หรือ PM ) ทำให้เกิดปัญหาน้อย เพราะจมูกของคนเราจะกรองออกหมด แต่ถ้าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ๆ กว่า 10 ไมครอน เช่น 2.5 ไมครอน จะทำให้เกิดปัญหาเพราะมันลงไปในปอดได้มาก โดยอาจจะเป็นสารประกอบอินทรีย์หรืออนินทรีย์ก็ได้ สารประกอบประเภทอนินทรีย์สำคัญ ๆ ที่จะได้ยินมาก คือส่วนประกอบที่มาจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งเผาใหม่ไม่สมบูรณ์ รวมเรียกว่า DEP ( Diesel Exhaust Particles ) อันมีผลต่อสุขภาพ เพราะเขาพบว่าเมื่อมลภาวะจากฝุ่นชนิดนี้มากขึ้น อันตรายจะเพิ่มมากขึ้น งานวิจัยจากเมืองซีแอตเติลในสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า เมื่อฝุ่นขนาด PM 10 ( ขนาด 10 ไมครอนลงมา ) เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนบริเวณนั้นจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืดมากขึ้นเป็นเส้นตรงโดยไม่ปรากฎว่าจะขึ้นถึงสุดยอด แม้ว่ารัฐบาลหลายประเทศจะแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ประสบการต่อต้านพอควรเพราะน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงหลักของบริษัทขนส่งทั้งหลาย โอโซนอาจไม่เป็นปัญหามากนักในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาใหญ่มากที่กรุงลอสแองเจลิส และแม็กซิโกซิตี้ ซึ่งได้รับผลกระทบชัดเจนจากโอโซนต่อสุขภาพของเด็ก ๆ ซึ่งงานวิจัยมื่อ 45 ปีก่อน พบว่าการไปใช้บริการของห้องฉุกเฉินในแต่ละวัน เนื่องจากโรคหืดที่กรุงแม็กซิโกเพิ่มขึ้น และตัวเลขนี้สัมพันธ์กับมลภาวะในอากาศ ภูมิภาคที่มีอากาศหนาวเย็นกว่า เช่น ยุโรป ภาคเหนือซึ่งไม่ค่อยได้เห็นแสงแดดมากนัก และมีโอกาสจะเห็นระดับโอโซนขึ้นถึง 100 หรือ 110 PPB อย่างน้อย แต่ก็มีปัญหาจากการใช้แก๊สหุงต้มในครัวเรือนมาก ทำให้ระดับของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในครัวเรือนขึ้นถึง 800 PPB ซึ่งสูงกว่า 2 เท่าของที่บันทึกได้จากมลภาวะจากไอเสียรถยนต์ใจกลางเมืองเสียอีก อย่าลืมว่าครัวเรือนทางตอนเหนือของยุโรปไม่ค่อยมีหน้าต่างถ่ายเทอากาศเท่าไรนักเพราะอากาศเย็นเกินกว่าจะเปิดหน้าต่างทิ้งไว้อย่างบ้านเรา และแก๊สที่ใช้ก็ไม่มีกลไกระบายสู่อากาศภายนอกได้ดีนักในหลายๆบ้าน บรรดาแม่บ้านจึงมีความเสี่ยงต่อการหายใจหวิดหวิวเป็น 2 เท่าเช่นเดียวกับการตื่นนอนด้วยอาการหายใจลำบาก มีโรคหืดเพิ่มขึ้น งานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาแสดงถึงผลของฝุ่นระอองที่บ่งชี้ว่าทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของฝุ่นชนิด PM 10 ที่เพิ่มขึ้น อัตราตายจากโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 3 % และอัตราการกำเริบของโรคหืดจะเพิ่ม 3 % ด้วย จึงนับเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่พวกเรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทั่วโลก ซึ่งถ้าเราสำรวจดูเมืองใหญ่ๆ ที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคนสัก 20 แห่ง จะพบว่า 17 แห่งมีระดับ DEP สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ มลภาวะจากฝุ่นละอองจึงเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่ชาวโลกต้องเผชิญในศตวรรษหน้า ประเทศไทยมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครมากกว่า 10 ปี ( เริ่ม พ.ศ. 2531 ) และเก็บรวบรวมข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องโดยเครือข่ายการตรวจวัดเพิ่มทุกปี จนปัจจุบันมีการตรวจพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ ฝุ่นละออง PM 10 ( ฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 10 ไมครอน ) ในกทม. มีระดับสูงกว่ามาตรฐานที่ประเทศไทยกำหนดไว้ คือ 50 ไมโครกรัม / ลูกบาศก์เมตร 108 ครั้งจากการสังเกตการณ์ 1692 ครั้ง PM 10 จึงเป็นปัญหารุนแรงที่สุดในกทม. เพราะมีระดับเกิดเกณฑ์มาตรฐานมากที่สุด ข้อมูลการตรวจวัดปริมาณตะกั่วในบรรยากาศริมถนนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา ที่วัดได้สูงสุดคือปี 2533 ซึ่งระดับมาตรฐานรายเดือนอยู่ที่ 1.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ช่วงนั้นระดับตะกกั่วในเลือดของคนกรุงเทพอย่างเช่น ตำรวจจราจร และคนขับรถโดยสารประจำทางสูงกว่า 20 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ( ไม่ควรเกิน 10 ) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเริ่มหาทางแก้ไข อย่างตะกั่วที่เจือปนอยู่ในน้ำมันดีเซล ปี 2533 อยู่ที่ 0.4 กรัม/ลิตร หลังจากนั้นลดลงเหลือ 0.15 และเป็น 0 ในปี 2539 ปรากฎการณ์นี้ส่งผลในการวัดค่าตะกั่วในบรรยากาศของกรุงเทพซึ่งลดลงตามปริมาณตะกั่วในน้ำมัน คาร์บอนมอนนอกไซด์ ( CO ) ที่ริมถนนมีค่าสูงสุดขึ้น ๆ ลง ๆ ตามสภาพจราจร ปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนใน กทม. เพิ่มขึ้นตามลำดับตั้งแต่ 2533 2540 ซึ่งเมื่อปลายปี 2540 มี 3-8 ล้านคน ( รวมจักรยานยนต์ ) ในขณะที่ระดับ CO มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2537
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?คงจำกันได้ว่าตั้งแต่ปี 2536 มีรถยนต์ใหม่ออกมามากขึ้นเพราะรัฐบาลลดภาษีแต่ก็เป็นรถใหม่ที่มีคุณภาพดีขึ้น มีการกำหนดมาตรฐานให้ผู้ปลิตลดไอเสียรถยนต์ให้อยู่ในเกณฑ์ โดยเปลี่ยนจากระบบคาร์บูเรเตอร์เป็นระบบหัวฉีด มีการบังคับใช้ catalytic converter เข้ามาในท่อไอเสีย ดังนั้นแม้รถยนต์จะเพิ่มเกือบเท่าตัว แต่ระดับ CO กลับลดลงเรื่อยๆ ซึ่งนับเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น ระดับของ CO ในอากาศมีความสัมพันธ์กับการจราจรบนถนน ถนนที่มีการจราจรเบาบางจะมี CO ขึ้นเฉพาะในช่วงเช้าที่เป็นชั่วโมงเร่งด่วน และอีกครั้งตอนเย็นถึงค่ำ ส่วนถนนธุรกิจที่มีการจราจรแน่หนาทั้งวัน จะมี CO กระจายตัวตลอดวัน ไปลดอีกทีตอนเที่ยงคืนอย่างเช่นที่ประตูน้ำ ในฤดูหนาว ท่านผู้อ่านจะสังเกตเห็นบรรยากาศในกทม. มีลักษณะที่เรียกว่า hazy sky ซึ่งมีหมอกแดดเสริมจากอากาศด้วย ฤดูหนาวจะมีอุณหภูมิต่ำ ลมสงบความชื้นมีในตอนเช้าจึงเกิดหมอก หากมีฝุ่นละอองขึ้นไปในอากาศมาก ๆ ก็จะเป็ฯสาเหตุให้มีการกลั่นตัวของไอน้ำได้ง่ายขึ้น กิดเป็นหมอกปกคลุม พอเข้าหน้าร้อนเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น การเกิดหมอกจะลดลง แต่แหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองยังไม่เปลี่ยนเท่าไรนัก ระดับฝุ่นละอองจะสัมพันธ์กับการจราจร อย่างในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนเมษายนของทุกปีที่มีวันหยุดมาก ผู้คนออกจากกรุงเทพ เมื่อปี 2540 มี 2 ช่วงที่มีวันหยุดยาว PM 10 ในสถานีตรวจวัดต่างๆ ลดลง พอพ้นวันจักรีก็กลับเพิ่มขึ้นอีกเพราะคนกรุงเทพฯกลับมาชั่วคราว แล้วก็ลดลงอีกตอนสงกรานต์ เมื่อคนออกจากกรุงเทพอีก
ผลกระทบของ PM 10 ในกทม. เป็นอย่างไรบ้าง ?ทีมวิจัยศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพแล้วพบว่าอัตราตายของประชาชนที่สัมผัสฝุ่นละอองระยะสั้นมีความสัมพันธ์กับระดับ PM 10 ในอากาศ คือ วันไหนมี PM 10 สูงก็จะมีอัตราตายสูงตามไปด้วย อัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลก็สูงขึ้นตามลำดับของ PM10 เช่นเดียวกับอาการของทางเดินหายใจจะเพิ่มตาม PM10 ทั้งนี้ยังขึ้นกับปริมาณ PM10 ด้วย กล่าวคือ ถ้า PM10 เพิ่มขึ้น 30 ไมโครกรัม/ลบ.ม. อัตราตายจากโรคทางเดินหายใจจะเพิ่มขึ้น 7-20%~ ดังนั้นถ้าเราสามารถลดระดับ PM10 ได้ 10 ไมโครกรัมต่อปี ก็จะสามารถลดตัวเลขเลวร้ายต่าง ๆ ได้ เช่นอัตราตายลดลง 700-2000 การไปใช้บริการห้องฉุกเฉินลดลง 12,000-35,000 ครั้ง จำนวนวันที่เป็นโรคหืดลดลง 1 แสน ถึง 1 ล้านวันต่อปี หรือถ้าแปลเป็นเงินก็จะลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลงได้ 35,000-88,000 ล้านบาทต่อปี ถ้ามองในเชิงสาธารณสุขแล้ว เราอาจกำหนดมาตรการต่าง ๆ อาทิเช่น 1. ระบบเตือนภัย คือวันไหนถ้าเราคาดว่าฝุ่นละอองจะมีมากเกินมาตรฐานก็น่าจะเตือนภัยว่าเด็กหรือผู้สูงอายุ หรือ คนที่เป็นโรคเรื้อรังต้องระวังตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ควรหาทางลดไอเสียจากรถยนต์อย่างในบางประเทศมีมาตรการให้เจ้าหน้าที่นั่งรถเมล์ที่จัดให้แทนการขับรถยนต์มาทำงานเอง 2. การให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งขณะนี้ทางกรมควบคุมมลพิษมีข้อมูลอากาศอยู่ในอินเตอร์เนท 3. มีการติดตามเฝ้าระวังมากขึ้น โดยกรมควบคุมมลพิษได้ทำแล้ว อย่างในบางจังหวัดที่มีการใช้เครื่องวัดมลพิษในอากาศ 4. เข้าไปจัดการตรวจแหล่งปัญหา
แหล่งที่มาของ PM10 มี 3 แหล่งใหญ่ คือ1. ฝุ่นจากถนน 2. แหล่งเคลื่อนที่ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล เช่น รถโดยสารประจำทาง และนอกจากนี้ยังมีจักรยานยนต์อีก 3. การก่อสร้าง อุตสาหกรรม แต่ไม่มากเท่ารายการที่ 1 และ 2
ปัญหาที่เราสามารถตรงเข้าไปแก้แหล่งปัญหาได้ คือ1. เพิ่มการทำความสะอาดถนนให้มากขึ้น โดยใช้รถดูด กวาดฝุ่นต่าง ๆ บนผิวถนนเพื่อลดการสะสมของฝุ่นบนถนนให้น้อยลง การราดพื้นถนนสายต่าง ๆ ด้วยวัสดุถาวรรวมทั้งแก้ไขไหล่ถนนที่อาจจะเปิดโล่งให้ดินสะสมก็เปลี่ยนเป็นวัสดุถาวรหรือปลูกพืชคลุมดินลดการกระจายของฝุ่น 2. เตาของโรงงานอุตสาหกรรมควรเน้นควบคุมคุณภาพของเชื้อเพลิง เช่นเปลี่ยนจากน้ำมันเตาเป็นแก๊สได้มากขึ้น 3. แหล่งเคลื่อนที่ต้องเน้นมากโดยเฉพาะการดูแลสภาพรถ เช่น รถเมล์ของขสมก. ควรมีการเปลี่ยนเครื่องไปใช้เครื่องยนต์ที่มีมลพิษน้อยกว่า ซึ่งอาจจะถูกกว่าเปลี่ยนทั้งคันถ้าบอกว่าสภาพเศรษฐกิจไม่อำนวย การตรวจสภาพรถและบำรุงรักษารถอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยได้มาก รถจักรยานยนต์ควรเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ ซึ่งจะทำให้ควันขาวลดหายไป รวมทั้งการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องควันดำ
โรคภูมิแพ้ของจมูก ( allergic rhinitis )นับเป็นภาวะโรคที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุด วิธีการตรวจ คือ การซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการทดสอบผิวหนัง ( skin prick test ) เพื่อดูว่าแพ้หรือไม่ ปรากฎว่าในเด็กไทยเกือบทุกภาคมีความชุกถึง 20% และมีแน้วโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โรคภูมิแพ้ทางจมูก มีได้ 2 รูปแบบ คือ 1. ชนิดที่มีอาการได้ตลอดปี ( perennial type ) 2. ชนิดที่มีอาการเป็นฤดู ( seasonal type ) อย่างในเมืองไทยนั้นคนที่เป็นโรคภูมิแพ้แบบนี้จะมีอาการมากขึ้นแถวเดือนมีนาคม และตอนปลายปี ส่วนสารกระตุ้นก็จะต่างจากในประเทศตะวันตก ซึ่งมี 4 ฤดู และมักจะเป็นกันมากช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งมีการผลิดอกออกไปทั่วไปหมด โดยเฉพาะหน้าที่เรียกว่า แร็กวีด ( rag weed ) แต่ของเมืองไทยจะเป็นพวกกก หญ้า เฟิร์น วัชพืช และตัวการในบ้าน คือ แมลงสาบและไรฝุ่น การวินิจฉัย โรคนี้นอกจากจะใช้การซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว ยังต้องทดสอบผิวหนัง ( skin test ) ประกอบ บางรายอาจต้องเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อในรูจมูกมาส่องกล้องดูการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ สำหรับท่านที่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลก็คงขึ้นอยู่กับว่าอาการรุนแรงจนกระทบการดำเนินชีวิตมากน้อยเพียงใด อย่างบางคนเป็นเพียงจามมาก ๆ ติดต่อกัน หลายครั้งในตอนเช้าร่วมกับน้ำมูกไหลเล็กน้อย ก็คงพอทนรำคาญได้ แต่ที่จะทนอยู่ไม่ไหวเห็นจะเป็นอาการคัดจมูกขนาดหายใจไม่ออกราวกับช่องจมูกถูกปิด วิธีการบำบัดคือ ให้ยาแก้แพ้ซึ่งเป็นยากลุ่มต้านฮิสตามีน ( antihistamine ) และให้ยาลดการคั่งของเยื่อบุจมูก ( decogestant ) คล้าย ๆ กับการบรรเทาหวัด ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก หมออาจต้องพิจารณาให้การบำบัดทางภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า อิมมูโนบำบัด ( immunotherapy ) และบางรายอาจต้องผ่าตัดจมูกเพื่อบรรเทาอาการอุดตันจนหายใจไม่ถนัด กลไกที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าวเริ่มจากสารก่อภูมิแพ้ที่รวมเรียกว่า อัลเลอเจน ( allergens ) เช่น ไรฝุ่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ลอยมาสัมผัสผิวเยื่อบุในรูจมูกแล้วก่อให้เกิดปฏิกิริยาบวม มีสารคัดหลั่งปรากฎออกมามากมายภายในไม่กี่นาที ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ร่างกายใช้มาตรการต่าง ๆ ต่อสู้สิ่งแปลกปลอม แต่ในการทำสงครามต่อสู้ข้าศึกนั้นจะมีความเสียหายเกิดขึ้น เช่น มีการอักเสบของเยื่อบุภายในรูจมูก ทำให้เกิดอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลมากน้อยต่างกันไปในแต่ละคน เดี๋ยวนี้ นักวิจัยค้นพบกลไกการอักเสบอันสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้นเวลาร่างกายเผชิญข้าศึกที่มาคุกคามเปรียบราวกับสมรภูมิขนาดใหญ่ที่มีการบัญชาการรบอย่างมีหลักการ มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจน อย่างเม็ดเลือดขาวก็มีการแยกประเภทเพื่อไปทำหน้าที่ต่าง ๆ อย่างที่เป็นน่าอัศจรรย็ใจและจากความรู้ดังกล่าวก็นำไปสู่การค้นหายาที่จะบรรเทาอาการหรือบำบัดโรคได้ ซึ่งขณะนี้มียาที่ใช้บำบัดโรคภูมิแพ้ของจมูกหลายกลุ่ม ซึ่งบางคนต้องใช้ยาหลายขนานควบกันจึงจะได้ผล 1. ยาต้นฮิสตามีน ( antihistamine ) ซึ่งมีอยู่มากมายหลายขนานแต่จะมีรุ่นใหม่ ๆ ที่ทำให้เกิด อาการง่วงนอนน้อยกว่า เช่น ยา loratadine เป็นต้น 2. ยาต้านลูโคไทรน์ ( antileukotriene ) ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ 3. สเตียรอยด์ชนิดพ่น ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบเช่นกัน 4. ภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและวิจัย
โรคหืด ( asthma )ความสัมพันธ์ของภูมิแพ้และโรคหืดคือคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อาจเป็นโรคหืดได้เช่นเดียวกับคนเป็นโรคหืดก็อาจเป็นโรคภูมิแพ้ได้ ดังนั้น การรักษาร่วมกันก็จะควบคุมอาการได้ดีขึ้น โรคภูมแพ้มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมให้สร้างสารพิเศษเพื่อต่อสู้สิ่งระคายเคืองร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนที่มีชื่อว่า อิมมูโนโกลบูลิน อี ( immunoglobulin E หรือย่อๆ ว่า IgE ) เพื่อออการต่อสู้กับสารก่อภูมิแพ้ทั้งหลาย แต่ถ้าสารก่อภูมิแพ้รุนแรงมาก เปรียบเหมือนข้าศึกที่มีพละกำลังมหาศาลได้เปรียบกว่างมากก็ย่อมเอาชนะเราได้ โรคหืดเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลกรวมทั้งเมืองไทยด้วย โดยคาดว่าจะมีชาวโลกเป็นหืดไม่ต่ำกว่า 100 150 ล้านคน และมีการตายเกิดจากโรคหืดทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนต่อปี ความชุกของโรคหืดในเมืองไทยคาดว่าจะอยู่ราว 5-12% คือ 2-3 ล้านคน โรคหืดทำให้เกิดอะไร? อาการหอบหืดเกิดจากพยาธิวิทยาพื้นฐาน 2 ประการของโรคหืด คือ 1. มีการตีบตัวของหลอดลม เนื่องจากกล้ามเนื้อเรียบที่รายล้อมหลอดลมเกิดการหดตัว 2. มีการอักเสบของทางเดินหายใจทำให้เยื่อบุบวมและมีการตอบสนองอย่างเกินเหตุของหลอดลม 3. มีเยื่อเมือกผลิตน้ำเมือกเข้มข้นออกมาอุดทางเดินหายใจ เมื่อเข้าใจพยาธิสภาพแล้วก็จัดการรักษาไปตามส่วน เช่น ถ้าคนไข้มีอาการหายใจหวิดหวิวหรือหายใจหอบก็ต้องให้ยาขยายหลอดลมซึ่งขนานที่มีและออกฤทธิ์แรงน่าพอใจในปัจจุบัน คือยากลุ่ม beta-2-agonist เช่น ยา salbutamol และ terbutaline จัดเป็นการรักษาแบบบรรเทาอาการ ( reliever ) อาการบวมก็ต้องให้ยาต้านการอักเสบซึ่งขนานที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ สเตียรอยด์ชนิดสุดดม จัดเป็นการรักษาแบบควบคุมอาการ ( controller ) ส่วนกรณีน้ำเมือกเข้มข้นนั้นต้องได้บริโภคน้ำให้เพียงพอ ดังนั้นคนไข้โรคหืดสมัยใหม่จะพกพายาพ่นสูดดม 2 หลอด คือ ยาบรรเทาซึ่งมักจะเป็นสีฟ้า และ ยาควบคุมซึ่งมักจะมีสีแดงหรือน้ำตาล ข้อสำคัญที่ท่านผู้อ่านจะต้องฝึกฝนให้ดีคือการใช้ยาสูดดมให้ถูกวิธี เพราะคนไข้จะต้องหายใจเข้าจังหวะกับเครือ่งพ่นยา มิฉะนั้นยาจะไม่ลงไปในช่องปอด แต่กลับค้างอยู๋ที่คอ เรียกว่า เสียสตางค์เปล่า ๆ แถมยังจะพลอยทำให้เชื้อราขึ้นที่ปากอีก
ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ มนุษย์เราได้ใช้ความฉลาดเฉลียวเกินสัตว์อื่นในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกและได้แสดงความเห็นแก่ตัวในการทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมจนเกิดปัญหาตามมาให้คนรุ่นหลังต้องตามแก้ หรือไม่ก็ตามทำลายต่อ โรคภูมิแพ้จึงเป็นตัวอย่างของการทำลายสภาพแวดล้อมจนเกิดมลภาวะของสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดโรคนี้มากขึ้นตามลำดับ แนวทางการรักษาจึงไม่เพียงแต่จะบรรเทาและควบคุมอาการเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เอื้อประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ใหญ่ได้อีกต่างหาก ขอให้ทุกท่านช่วยกันคนละไม้คนละมือนะครับ .
|
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15/06/2010 ได้รับการสนับสนุน Web Hosting จาก SPAComputer.com, ThaWang.com |