โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza)
 

คำนำ

ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก

แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก

คำแนะนำทั่วไปในการรักษาสุขภาพและพฤติกรรมอนามัย

ข้อแนะนำกรณีพบสัตว์ปีกตายผิดสังเกต

ข้อแนะนำขั้นตอนการล้างตลาด

 

คำนำ

จากสถานการณ์การระบาดของโรคในไก่  รวมถึง  ไข้หวัดนก (Avian Influenza) ในขณะนี้  กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคในคนอย่างใกล้ชิด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ  และได้ประสานงานกับกรมปศุสัตว์ซึ่งเข้าดำเนินการควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ที่เกิดการระบาดทุกแห่งแล้ว  รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีการนำไก่ป่วยหรือตายออกจำหน่ายในท้องตลาดอย่างเด็ดขาด

ในสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนทั่วไปมีความเสี่ยงน้อยต่อการเกิดโรค  การรับประทานไก่และไข่ที่ปรุงสุกไม่ทำให้ติดโรค  จึงไม่ควรตื่นตระหนก  อย่างไรก็ตาม  เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก  กระทรวงสาธารณสุข ขอแนะนำความรู้เรื่องโรค  และแนวทางปฏิบัติดังนี้

Back To Top of Page

 

ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก

โรคไข้หวัดนก  เป็นโรคติดต่อของสัตว์ปีก  ตามปกติโรคนี้ติดต่อมายังคนได้ไม่ง่ายนัก  แต่คนที่สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่เป็นโรคอาจติดเชื้อได้  มีรายงานการเกิดโรคในคนเป็นครั้งแรกในปี 2540  เมื่อเกิดโรคระบาดของสัตว์ปีกในฮ่องกง

โรคไข้หวัดนก  เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ที่พบในนก  ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคในธรรมชาติ  โรคอาจแพร่มายังสัตว์ปีกในฟาร์มได้  โดยการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย  เชื้อที่อยู่ในน้ำมูก  น้ำลาย และ มูลของสัตว์ป่วยอาจติดมากับมือ และเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของจมูกและตา  ทำให้เกิดโรคคล้ายไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดนก  มีระยะฟักตัว 1 ถึง 3 วัน  ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง  หนาวสั่น  ปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  อ่อนเพลีย  เจ็บคอ  ไอ  ผู้ป่วยเด็กเล็ก  ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว  หากมีภูมิคุ้มกันไม่ดี  อาจมีอาการรุนแรงได้  โดยจะมีอาการหอบ  หายใจลำบากเนื่องจากปอดอักเสบรุนแรง

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนก  ได้แก่  ผู้ที่ทำงานในฟาร์สัตว์ปีก  ผู้ที่ฆ่าหรือชำแหละสัตว์ปีกในพื้นที่ที่เกิดโรคไข้หวัดนกระบาด

โรคไข้หวัดนก  ต่างจากไข้หวัดใหญ่  กล่าวคือ  โรคไข้หวัดนกสามารถติดต่อจากคนสู่คน  แต่ในปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยที่ติดโรคไข้หวัดนกจากคนสู่คน

Back To Top of Page

 

แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก

ผู้บริโภคไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่

  • เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร  การบริโภคเนื้อสัตว์  รวมทั้งเนื้อไก่และไข่ไก่  โดยทั่วไป  จึงควรรับประทานเนื้อที่ปรุงให้สุกเท่านั้น  เนื่องจากเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจปนเปื้อนมา  ไม่ว่าจะเป็นไวรัส  แบคทีเรีย  หรือพยาธิ จะถูกทำลายไปด้วยความร้อน
  • เนื้อไก่และไข่ไก่ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดในขณะนี้  ถือว่ามีความปลอดภัย  สามารถบริโภคได้ตามปกติ  แต่ต้องรับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น  งดการรับประทานอาหารที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ
  • เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกอย่างดี  โดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหาโรคระบาดในไก่

ผู้ประกอบอาหาร

ผู้ประกอบอาหาร  ทั้งเพื่อการจำหน่าย และแม่บ้านที่เตรียมอาหารในครัวเรือน  เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคติดต่อจากอาหาร

กระทรวงสาธารณสุขขอเน้นการป้องกัน  ดังนี้

  • ควรเลือกซื้อเนื้อไก่ และผลิตภัณฑ์จากไก่  จากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐาน หรือร้านค้าประจำ  และเลือกซื้อไก่สดที่ไม่มีลักษณะบ่งชี้ว่าอาจตายด้วยโรคติดเชื้อ  เช่น  เนื้อมีสีคล้ำ  มีจุดเลือดออก  เป็นต้น  สำหรับไข่  ควรเลือกฟองที่ดูสดใหม่ และไม่มีมูลไก่ติดเปื้อนที่เปลือกไข่  ก่อนปรุงควรนำมาล้างให้สะอาด
  • ไม่ใช้มือที่เปื้อนมาจับต้องจมูก ตา และปาก  และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจับต้องเนื้อสัตว์  เครื่องในสัตว์  และเปลือกไข่ที่มีมูลสัตว์เปื้อน
  • ควรแยกเขียงสำหรับหั่นเนื้อไก่ และมีเขียงสำหรับหั่นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว  หรือผัก ผลไม้  โดยเฉพาะไม่ใช้เขียงเดียวกัน

ผู้ชำแหละไก่

ผู้ชำแหละไก่อาจมีความเสี่ยงจากการติดโรคจากสัตว์  จึงควรระมัดระวังขณะปฏิบัติงาน  ดังนี้

  • ต้องไม่ซ้อไก่ที่มีอาการผิดปกติจากการติดเชื้อ  เช่น  ซึมหงอย  ขนฟู  หน้าหงอน  หรือเหนียงบวมคล้ำ  มีน้ำมูก หรือขี้ไหล  เป็นต้น  หรือไก่ที่ตายมาชำแหละขาย
  • ไม่ขังสัตว์ปีกจำพวก ไก่ เป็ด ห่าน  ฯลฯ  ที่รอชำแหละไว้ในกรงใกล้ ๆ กัน  เพราะจะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เชื้อโรคกลายพันธุ์ จนอาจเกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่เป็นอันตรายทั้งต่อคน และสัตว์ได้
  • ควรทำความสะอาดกรง และอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ  ด้วยน้ำผลซักฟอก  และนำไปผึ่งกลางแดดจัด ๆ  นอกจากนั้นอาจราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ  เดือนละ 1-2 ครั้ง
  • หากสัตว์ที่ชำแหละมีลักษณะผิดปกติ  เช่น  มีจุดเลือดออก  มีน้ำหรือเลือดคั่ง  หรือจุดเนื้อตายสีขาวที่เครื่องใน หรือ เนื้อมีสีผิดปกติ  ต้องไม่นำไปจำหน่าย  และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาตรวจสอบทันที  เพราะอาจเป็นโรคระบาด
  • ต้องล้างบริเวณชำแหละสัตว์ให้สะอาดด้วยน้ำผลซักฟอก หลังเสร็จสิ้นการชำแหละไก่  และควรราดน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เดือนละ 1-2 ครั้ง
  • ผู้ชำแหละไก่  ควรดูแล ระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง  โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย  เช่น  พลาสติก หรือผ้ากันเปื้อน  ผ้าปิดปากจมูก  ถุงมือ  แว่นตา  รองเท้าบู๊ต  และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
  • รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำ และสบู่ให้สะอาด  และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ  ส่วนเสื้อผ้าชุดเดิม  พลาสติก หรือ ผ้ากันเปื้อน  ผ้าปิดจมูก  ถุงมือ  แว่นตา  ควรนำไปซัก หรือล้างให้สะอาด  และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิท  ก่อนนำมาใช้อีกครั้ง

ผู้ขนย้ายสัตว์ปีก

ผู้ขนย้ายสัตว์ปีกควรระมัดระวังตนเองไม่ให้ติดโรคจากสัตว์  และป้องกันการนำเชื้อจากฟาร์มหนึ่งไปแพร่ยังฟาร์มอื่น ๆ  จึงควรเน้นการปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

  • งดซื้อสัตว์จากฟาร์มที่มีสัตว์ตายมากผิดปกติ
  • เมื่อขนส่งสัตว์เสร็จในแต่ละวัน  ต้องรีบล้างทำความสะอาดรถให้สะอาดด้วยน้ำผงซักฟอก  สำหรับกรงขังสัตว์ควรราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
  • ควรดูและระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง  โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย  เช่น  ผ้าปิดปากจมูก  ถุงมือ  รองเท้าบู๊ต และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
  • รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำ และสบู่ให้สะอาด  และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ  ส่วนเสื้อผ้าชุดเดิมและเครื่องป้องกันร่างกาย  ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด  และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง

เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่

เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่  รวมทั้งผู้เลี้ยงสัตว์  และผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ในฟาร์มที่มีการระบาดเป็นกลุ่มประชาชนที่เสี่ยงต่อการติดโรคจากสัตว์  ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์โดยเคร่งครัด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

  • เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ต้องป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น ๆ รวมทั้งนกทุกชนิด และสัตว์พาหะนำโรค  เช่น หนู เป็นต้น  เข้ามาในโรงเรือน  เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาแพร่ให้ไก่ได้  นอกจากนั้น จะต้องรักษาความสะอาดในโรงเรือนให้ดีอยู่เสมอ  และหากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด  ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที  ต้องไม่นำไก่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย  และทำการกำจัดทิ้งตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด  เช่น  อาจฝังให้ลึก  แล้วราดน้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือปูนขาว  หรือนำไปเผาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อมาสู่สัตว์ หรือคน
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ หรือผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ในฟาร์มที่มีการระบาด  ไม่ว่าจากสาเหตุใด  ควรดูและระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง  โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย  เช่น  พลาสติก หรือผ้ากันเปื้อน  ผ้าปิดปากจมูก  ถุงมือ  แว่นตา  รองเท้าบู๊ต  และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ   โดยเฉพาะต้องจับต้องสัตว์ป่วย หรือซากสัตว์ที่ตาย
  • รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด  และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ  เสื้อผ้าชุดเดิม  พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน  ผ้าปิดปากจมูก  ถุงมือ  แว่นตา  ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด  และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง

การป้องกันโรคให้แก่เด็ก

  • เนื่องจากเด็กมักมีนิสัยชอบเล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง  รวมทั้งไก่ และนก  และหากติดเชื้อไข้หวัดนก มักป่วยรุนแรง  ดังนั้นในช่วงที่มีโรคระบาดในสัตว์ปีก  มีสัตว์ตายมากผิดปกติ   พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรระมัดระวังดูและเด็กให้ใกล้ชิด  และเตือนไม่ให้เด็กจับอุ้มไก่หรือนก  หรือจับต้องซากสัตว์ปีกที่ตาย  และต้องฝึกสุขนิสัยที่ดีให้เด็ก โดยเฉพาะการล้างมือทุกครั้งหลังจับต้องสัตว์
  • หากเด็กมีอาการป่วย  สงสัยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ  ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด  โดยทั่วไปเมื่อได้รับการรักษาและดูและอย่างถูกต้อง  เด็กจะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นภายใน 2 - 7 วัน  แต่ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด  หากมีอาการรุนแรงขึ้น  เช่น  มีอาการหอบ  ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที

Back To Top of Page

 

คำแนะนำทั่วไปในการรักษาสุขภาพและพฤติกรรมอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อ

  • ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรง  เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคได้ดี  โดยการรับประทานอาหารให้ครบถ้วน  รวมทั้งผัก และผลไม้  งดบุหรี่และสุรา  นอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  และในช่วงอากาศเย็น  ควรสวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น
  • หากมีอาการไม่สบาย  เช่น  มีไข้  ปวดศีรษะ  หนาวสั่น  เจ็บคอ  ไอ  เป็นต้น  ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที  และแจ้งแพทย์ด้วยว่าทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์  หรือมีประวัติสัมผัสซากสัตว์

Back To Top of Page

 

ข้อแนะนำกรณีพบสัตว์ปีกตายผิดสังเกต

สัตว์ที่ตายผิดสังเกต  อาจมีสาเหตุมาจากโรคระบาดหลายโรค  รวมทั้งโรคไข้หวัดนกด้วย  หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น  ผู้ที่พบเห็นควรปฏิบัติโดยเร็ว  ดังนี้

  • โทรศัพท์แจ้งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบหาสาเหตุ
    • ในเขตกรุงเทพมหานคร  แจ้งที่สำนักงานเขต หรือกรมปศุสัตว์  โทร 0-2653-4401
    • ต่างจังหวัด  แจ้งเจ้าหน้าที่เทศบาล หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์
  • เก็บซากสัตว์ใส่ลงในถุงพลาสติก  รัดปากถุงให้แน่น  ต้องไม่จับซากสัตว์ด้วยมือเปล่า  ควรสวมถุงมือยาง  ถ้าไม่มีอาจใช้ถุงพลาสติกหนา ๆ สวมมือ  เจ้าหน้าที่อาจนำซากบางส่วนไปตรวจชันสูตรหาสาเหตุการตาย  ส่วนซากที่เหลือต้องรีบนำไปเผาหรือฝัง  หากใช้วิธีฝัง  ควรราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ  หรือโรยปูนขาว  ถ้าหาไม่ได้  อาจใช้น้ำเดือนราดที่ซากก่อนกลบดินทับ

Back To Top of Page

 

ข้อแนะนำขั้นตอนการล้างตลาดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลในช่วงการเกิดโรคระบาด

  • ในบริเวณที่มีการระบาดของโรคติดต่อ  ควรล้างตลาดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • กวาดหยากไย่ หรือเศษสิ่งสกปรกที่ติดบนฝาผนัง  โคมไฟ  พัดลม
  • เจ้าของแผงทำความสะอาดแผง และร่องระบายน้ำเสีย  กวาดเศษขยะไปรวมทิ้งไว้ในบริเวณพักขยะ  หรือในที่ที่จัดไว้  รวมทั้งกำจัดแมลง และสัตว์นำโรคที่อาศัยอยู่ในบริเวณตลาดด้วย
  • บนแผงหรือพื้นที่ที่คราบไขมันจับ  ใช้น้ำผสมโซดาไฟราดลงบนพื้นหรือแผง ทิ้งไว้นาน 15-30 นาที  และใช้แปรงลวดถูช่วยในการขจัดคราบไขมัน  ส่วนบริเวณอื่น  ใช้ผงซักฟอกช่วยในการล้างทำความสะอาด ในบริเวณที่ไขมันจับตัวหนา  ใช้โซดาไฟชนิด 96%  ในอัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำครึ่งปี๊บ  ในบริเวณที่ไขมันน้อย  ใช้โซดาไฟชนิด 96%  ในอัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำครึ่งปี๊บ
  • ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างบนแผง  ทางเดิน  ฝาผนัง  และกวาดล้างลงสู่ร่องระบายน้ำเสีย  เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก  โซดาไฟ หรือผงซักฟอกให้หมด
  • ใช้น้ำผสมผงปูนคลอรีน (ใช้ผงปูนคลอรีน 60% ในอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ปี๊บ)  ใส่ลงในบัวรดน้ำ  และรดบริเวณแผง  ทางเดิน  ร่องระบายน้ำเสีย ให้ทั่ว  ปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่น  ส่วนบริเวณที่มีกลิ่นคาว  ให้ใช้หัวน้ำส้มสายชูผสมน้ำให้เจือจาง  แล้วราดบริเวณที่มีกลิ่นคาว  โดยเฉพาะแผงขายสัตว์ปีก  ควรฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน ทุกวัน
  • บริเวณห้องน้ำ  ห้องส้วม  อ่างล้างมือ  ที่ปัสสาวะ  และก๊อกน้ำสาธารณะที่ใช้ในตลาด  ต้องล้างทำความสะอาด  โดยใช้ผงซักฟอกช่วย และล้างด้วยน้ำสะอาด
  • บริเวณที่พักขยะ ต้องเก็บรวบรวมขยะไปกำจัดให้หมด  แล้วล้างทำความสะอาด  และทำการฆ่าเชื้อ  โดยใช้น้ำผสมผงปูนคลอรีน ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว

Back To Top of Page

 

กระทรวงสาธารณสุข 

จากหนังสือ คำแนะนำสำหรับประชาชน
เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก

 

ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15/06/2010

FollowHisSteps.com

ได้รับการสนับสนุน Web Hosting จาก SPAComputer.com, ThaWang.com