บทนำ
 

บทคัดย่อ
Abstract
บทนำ
วัสดุและวิธีการ
ผลการศึกษา
วิจารณ์
กิตติกรรมประกาศ
เอกสารอ้างอิง

Table of Contents

hit counter

My Web Stats Until Dec 2008

Blastocystis hominis เป็นเชื้อโปรโตซัวที่อาศัยอยู่ในลำไส้ สามารถทำให้เกิดอาการได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันปกติและภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน และมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น1-3 อาการที่เกิดจากการติดเชื้อ B. hominis เป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง คือ ท้องร่วง ปวดท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องอืด และอ่อนล้า เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ยังไม่ทราบพยาธิกำเนิดที่แน่ชัด สมมติฐานการเกิดอาการอาจมีความสัมพันธ์กับจำนวนเชื้อ ภูมิคุ้มกัน หรือสายพันธุ์ของเชื้อ แต่ก็ยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัด4-7B. hominis มีรูปร่าง 6 ลักษณะ ได้แก่ vacuolar, granular, multivacuolar, avacuolar และ cystic form ยังไม่ทราบวงจรชีวิตที่แน่ชัด

ข้อมูลทางด้านระบาดวิทยาของการติดเชื้อ B. hominis ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดในหลายด้าน พบการติดเชื้อได้สูงในประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณเขตร้อน กลุ่มผู้อพยพ นักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับมาจากถิ่นระบาด ผู้ที่มีเศรษฐานะและสุขอนามัยไม่ดี 8-10 ความชุกของการติดเชื้อสามารถพบได้สูงถึงร้อยละ 30-50 ในประเทศที่กำลังพัฒนา11-13 และร้อยละ 1.5-10 ในประเทศที่พัฒนาแล้ว14-16 ในประเทศไทยมีรายงานความชุกร้อยละ 10-4017-19

เนื่องจากเป็นเชื้อโปรโตซัวที่อาศัยอยู่ในลำไส้ เชื่อว่าการติดเชื้อเกิดขึ้นทาง fecal-oral route แต่ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัด เชื่อว่า cyst เป็นระยะติดต่อ การติดต่ออาจเกิดจากการดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน (waterborne transmission) เนื่องจากมีรายงานการติดเชื้อในนักท่องเที่ยวที่มักจะดื่มน้ำที่ไม่สะอาดพอจากแหล่งท่องเที่ยว4, 9, 20 ปานจิต ธรรมศรี และคณะ พบว่าการติดเชื้อ B. hominis ของกำลังพลทหารในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีความสัมพันธ์กับคุณภาพน้ำดื่ม17 การติดเชื้ออาจเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อในอาหาร (foodborne transmission) แต่ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัด21-22 มักพบการติดเชื้อในคนที่มีความเป็นอยู่อย่างแออัด เช่น สถานสงเคราะห์เด็กอ่อน และมีการติดเชื้อในกลุ่มรักร่วมเพศ1, 13 ดังนั้นเชื่อว่ามีการติดเชื้อระหว่างบุคคลได้โดยตรง (person–to–person transmission) นอกจากนี้ยังพบเชื้อที่มีรูปร่างคล้าย B. hominis ได้ในสัตว์หลายประเภท ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ที่มีความสำคัญทางการเกษตร เช่น สุนัข แมว ไก่ หมู เป็นต้น7 มีการศึกษาพบเชื้อที่แยกได้จากหมูมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายกับ B. hominis จึงเชื่อว่าอาจมีการติดต่อมาจากสัตว์ได้ (zoonotic transmission)23-24

การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจอุจจาระโดยใช้วิธีการดูสด (simple smear) ด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและมีราคาถูก เหมาะสมกับการศึกษาวิจัยในภาคสนาม แต่มักจะมีผลลบเทียมได้สูง25 โดยถ้าในอุจจาระมีเชื้อ B. hominis จำนวนน้อยก็อาจจะตรวจไม่พบได้ อีกทั้งเชื้อมีความหลากหลายในด้านขนาดและรูปร่าง ดังนั้นถ้าผู้ตรวจขาดความชำนาญก็สามารถให้ผลตรวจที่ผิดพลาดได้ ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการตรวจพบคือความเข้มข้นของตัวทำละลายที่ใส่ในอุจจาระและระยะเวลาในการเก็บอุจจาระ ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเชื้อได้7 การหยดน้ำลงในอุจจาระอาจทำให้ vacuolar form ของเชื้อแตกได้26

Concentration technique อาจใช้เป็นทางเลือกในการตรวจโปรโตซัวในลำไส้ได้หลายชนิด ซึ่งวิธีนี้สามารถตรวจพบเชื้อในกรณีที่มีจำนวนเชื้อน้อยในอุจจาระ อย่างไรก็ตามประโยชน์ของ concentration technique ในการตรวจหาเชื้อ B. hominis ยังไม่ชัดเจน Miller และ Minshew (1988) พบว่าการใช้ concentration technique ในการตรวจหาเชื้อ B. hominis นั้นมีความไวในการพบเชื้อต่ำ เนื่องจากขั้นตอนการตรวจต้องผ่านการเขย่าและปั่น ซึ่งอาจทำให้ vacuolar, multivacuolar และ granular forms แตกได้27

Kukoschke และคณะ (1990) พบว่าการวินิจฉัยโดยการเพาะเชื้อในหลอดทดลองไม่ดีไปกว่าการดูสดด้วยกล้องจุลทรรศน์28 แต่ Zaman และ Khan (1994) รายงานผลที่ตรงกันข้าม กล่าวคือการเพาะเชื้อในหลอดทดลองจะมีความไวในการตรวจพบเชื้อที่ดีกว่า29 การศึกษาของเสาวนีย์ ลีละยูวะ และคณะ (2002) ให้ผลสนับสนุนการศึกษานี้ พบว่าการตรวจหาเชื้อ B. hominis ด้วยการเพาะเชื้อในหลอดทดลองมีผลความไวต่อการตรวจพบสูงกว่าการตรวจด้วย simple smear และ concentration technique อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ25

ปัจจุบันการตรวจหา B. hominis ในอุจจาระในห้องปฏิบัติการทั่วไปทำโดยการย้อมด้วยสี trichrome ซึ่งจะทำให้เห็นลักษณะเชื้อชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามการย้อมสีด้วยวิธีนี้มีขั้นตอนในการย้อมหลายขั้นตอนและใช้เวลาในการย้อม อีกทั้งการตรวจยังต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นจึงอาจไม่เหมาะสมในการศึกษาภาคสนาม เนื่องจากในปัจจุบันข้อมูลทางด้านระบาดวิทยาและอาการวิทยาของการติดเชื้อนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดในหลายด้าน การเลือกใช้วิธีการตรวจหาเชื้อ B. hominis ที่มีความไวและจำเพาะสูงจะทำให้เราทราบข้อมูลต่างๆ เหล่านี้

วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ ทางคณะผู้วิจัยได้ทำการเปรียบเทียบความไวและความจำเพาะของการตรวจพบเชื้อ B. hominis ในอุจจาระโดยการย้อมสี trichrome เปรียบเทียบกับการเพาะเชื้อในหลอดทดลอง

 

Back Next

 

ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15/06/2010

FollowHisSteps.com

ได้รับการสนับสนุน Web Hosting จาก SPAComputer.com, ThaWang.com