ฟันหลุด...อย่าทิ้ง
 

เมื่อผู้ปกครองหรือคุณครู ประสบปัญหา  เกิดอุบัติเหตุกับเด็ก  โดยเฉพาะในวัน 7-11 ปี  เช่น  การเล่นกีฬา  หรือการชกต่อย  ทำให้ฟันแท้หน้าบน หรือล่าง หลุดออกมาจากเบ้าฟัน ... อย่าทิ้งฟันซี่นั้นเด็ดขาด

 

ให้ปฏิบัติดังนี้

1. หาฟันที่หลุด  เมื่อหาพบแล้ว  ถ้าไม่มีเศษสิ่งสกปรกติดอยู่ตามรากฟัน  ให้รีบนำใส่กลับเข้าเบ้าฟันตามเดิม  โดยใช้นิ้วมือจับส่วนตัวฟัน  อย่าจับที่รากฟัน  ให้สังเกตดูฟันซี่ข้าง ๆ แล้วหันฟันด้านที่เรียบไว้ด้านหน้า และด้านที่เป็นแอ่งไว้ด้านเพดาน  จากนั้นจับฟันใส่เข้าที่เบา ๆ  อย่าดัน แต่ถ้าใส่ไม่ลงจริง ๆ ให้รีบหาของเหลวมาแช่ฟัน  แล้วรีบไปพบทันตแพทย์โดยเร็ว  ซึ่งของเหลวที่เหมาะสม คือ "นม"   ควรใช้นมจืด  ไม่ว่าจะเป็นนม Pasteurized หรือ UHT  และจะเป็นชนิด Whole fat หรือ Low fat milk ก็ได้  ซึ่งนมดังกล่าว  จากการวิจัยของคณะทันตแพทยศาสตร์ ม. มหิดล พบว่ามีคุณสมบัติช่วยรักษาเซลล์ที่อยู่รอบ ๆ รากฟัน  ให้ยังคงมีชีวิตอยู่ได้ภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง

2. ในกรณีที่ฟันตกไปที่พื้นดินและสกปรก  ก่อนจะนำฟันใส่เข้าเบ้าฟัน  ควรล้างสิ่งสกปรกที่ติดตามรากฟันก่อน  โดยจับที่บริเวณตัวฟัน  อย่าจับที่รากฟัน  เพราะบริเวณรากฟันมีเซลล์  ซึ่งจะไปเชื่อมติดกับเซลล์ที่อยู่ในเบ้าฟัน  แกว่งฟันไปมาในน้ำนม  เพื่อให้สิ่งสกปรกหลุดออก  แล้วรีบใส่ฟันเข้าเบ้าฟัน  แต่ถ้าใส่ไม่ได้  ให้นำฟันไปแช่ในน้ำนมจืด หรือน้ำดื่ม น้ำก๊อก  หรือให้เด็กอมฟันไว้ในกระพุ้งแก้มก็ได้  แล้วรีบไปพบทันตแพทย์ภายใน 15-30 นาที  ห้ามใช้นมหวาน หรือนมเปรียวเด็ดขาด  อย่างไรก็ตาม  การแช่ในนมจืด จะมีแนวโน้มของการยึดติดฟันที่หลุดกลับเบ้าฟันได้ดีกว่าการใช้น้ำอื่น ๆ

 

ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จที่จะนำฟันที่หลุดจากเบ้ากลับเข้าที่ได้

มีอยู่ 2 ปัจจัย  ได้แก่

1. จะต้องนำฟันที่หลุดกลับเข้าเบ้าฟันให้เร็วที่สุด  เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อของเซลล์รอบ ๆ รากฟัน กับเซลล์ในเบ้าฟันนั้น  คือ  ถ้านำกลับเข้าเบ้าเดิมได้ภายใน 15-30 นาที  จะมีผลสำเร็จสูงถึง 30 %

2. การรักษาเซลล์ที่อยู่รอบรากฟันให้มีชีวิต  ในขณะที่อยู่นอกปาก  ไม่ควรเก็บฟันให้ลักษณะแห้ง  เพราะเซลล์ที่อยู่รอบรากฟันจะขาดน้ำและตายได้

 

การรักษา

ทันตแพทย์จะนำฟันใส่เข้าที่เดิม  แล้วยึดฟันที่หลุดให้ติดกับซี่ข้าง ๆ ด้วยวัสดุอุดฟัน  พร้อมทั้งวางแผนการรักษาคลองรากฟันตามขั้นตอนต่อไป

 

อย่าลืม...ฟันหลุด...อย่าทิ้ง

แช่ฟันในน้ำนมจืด

แล้วรีบมาพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด

 

หน่วยประชาสัมพันธ์

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ข้อมูล : รศ. ละอองทอง วัชราภัย

ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15/06/2010

FollowHisSteps.com

ได้รับการสนับสนุน Web Hosting จาก SPAComputer.com, ThaWang.com