ห่วงใย ใส่ใจเฝือก
 

เฝือก

เฝือก  คือ  เครื่องดามที่ใช้ดามกระดูกและข้อส่วนที่ถูกหุ้มด้วยเฝือกนั้นอยู่นิ่ง ๆ  โดยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายส่วนอื่น ๆ ที่อยู่นอกเฝือกได้  นอกจากนี้ยังสามารถใช้ปกป้องเนื้อเยื่ออื่น ๆ ที่ได้รับบาดเจ็บได้

 

วัตถุประสงค์ของการใส่เฝือก

1. ใช้ดามกระดูกหัก หรือข้อที่ได้รับบาดเจ็บให้อยู่นิ่ง  ในตำแหน่งที่จัดไว้

2. ใช้ดามส่วนของร่างกายที่มีการอักเสบได้หยุดพัก  เพื่อลดความปวด บวม  เช่น  ภาวะโพรงกระดูกติดเชื้อ  เป็นหนอง

3. ใช้ป้องกันการเกิดความผิดปกติ วิกลรูปของข้อต่าง ๆ จากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ  เช่น  ผู้ป่วยอัมพาต  แผลไฟไหม้  หรือน้ำร้อนลวก

4. ใช้ดัด แก้ไขความวิกลรูปของร่างกาย  โดยการใส่เฝือกหลาย ๆ ครั้ง  ค่อย ๆ ยืดให้อวัยวะนั้นกลับคืนสู่ลักษณะปกติ  เช่น  กระดูกสันหลังคด

5. ใช้ป้องกันกระดูกหักในกรณีที่กระดูกเป็นโรค  เช่น  ผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกกระดูก

 

การดูแลเฝือก

เฝือกใช้เวลาแข็งตัวประมาณ 3-5 นาที  หลังจากที่แพทย์ใส่เฝือกให้  แต่เฝือกที่แข็งตัวแล้วก็ยังมีสภาพเปียกชื้นและบุบง่ายอยู่  ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน จึงจะแห้งสนิท

เฝือกที่แห้งสนิทแล้วจะมีความแข็งแรง และน้ำหนักจะเบาลงกว่าขณะที่เปียกชื้นมาก  ถ้ารู้จักทะนุถนอมเฝือก  ก็จะสามารถใช้เฝือกนั้นได้นาน  จนถึงเวลาที่จะเปลี่ยนหรือถอดออก

ดังนั้น  ควรทราบถึงการดูแลเฝือก  ดังนี้

 

ในระยะ 3 วันแรกหลังใส่เฝือก

1. ป้องกันเฝือกแตกหัก หรือบุบในระหว่างที่เปียกชื้น หรือแห้งไม่สนิท

  • วางเฝือกบนวัสดุนุ่ม นิ่ม  เช่น  หมอน  หรือฟองน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการวางเฝือกบนวัสดุแข็ง  เช่น  วางส่วนของส้นเท้าบนพื้นปูน  หรือใช้ส่วนของข้อศอกเท้าพนักเก้าอี้
  • ควรประคองเฝือกในระหว่างที่เคลื่อนย้าย หรือลุกออกจากเตียงอย่างระมัดระวัง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ปลายนิ้วกด หรือบีบเฝือกเล่น

2. ดูแลให้เฝือกแห้งเร็ว

  • วางเฝือกในที่โล่ง  อากาศถ่ายเทได้สะดวก  ไม่อับชื้น
  • ไม่ใช้ผ้าห่ม หรือสิ่งใด ๆ คลุมบนเฝือก
  • การใช้พัดลมเป่าจะช่วยให้เฝือกแห้งเร็วขึ้น  แต่ห้ามนำเฝือกไปผิงไฟ

 

การปฏิบัติเมื่อเฝือกแห้งดีแล้ว

1. ดูแลไม่ให้เฝือกเปียกชื้น หรือสกปรก  เช่น  การเดินในสนามหญ้าตอนเช้า ๆ  หรือถูกน้ำจนเปียก  เวลาอาบน้ำควรใช้ถุงพลาสติกหุ้มเฝือกไว้  อาจใช้ถุงสวมทับหลาย ๆ ชั้น  โดยการมัดปากถุงที่คนละระดับ  จะช่วยกันน้ำได้ดียิ่งขึ้น

2. ไม่ควรให้เฝือกเป็นตัวรับน้ำหนักอย่างเต็มที่  ยกเว้น มีส้นยางเป็นตัวรับน้ำหนัก

3. ไม่ควรลงน้ำหนัก หรือเดินบนเฝือก  ถ้าแพทย์ยังไม่อนุญาต

 

คำแนะนำ

1. ควรเกร็งกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้เฝือกบ่อย ๆ  และเคลื่อนไหวส่วนที่อยู่ภายนอกเฝือก หรือข้อต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง  เช่น  ใส่เฝือกขาควรเคลื่อนไหวนิ้วเท้าและเข้า  เกร็งกล้ามเนื้อน่อง

2. ห้ามตัด ทำลางเฝือก  สำลี หรือวัสดุรองรับเฝือกออกเอง

3. อย่าให้เฝือกกระทบของแข็งบ่อย ๆ  อย่าให้ได้รับแรงกดจนแตก หรือยุบ  เช่น  เหยียบ หรือวางลงบนพื้นแข็งโดยตรง

4. ห้ามทำให้พื้นเฝือกเปียก หรือ ถูกน้ำ หรือลนด้วยความร้อนเพื่อให้แห้งเร็ว

5. ห้ามใช้วัสดุ ของแข็งมีคม หรือหักหลุดง่ายแหย่เข้าไปในเฝือก  เพื่อแก้อาการคัน  เพราะอาจทำให้ผิวหนังลอก และมีบาดแผลได้  ถ้ามีอาการคันให้ใช้แอลกอฮอล์หยอดเข้าไปในเฝือก  หรือเกร็งกล้ามเนื้อ เพื่อเป็นการขยับ  ลดอาการคัน

6. ควรยกส่วนแขนหรือขาที่เข้าเฝือกให้สูง  อยู่เหนือระดับหัวใจเสมอ  เพื่อช่วยให้เกิดการไหลเวียนที่ดี

  • เวลานั่ง/นอน  ให้ใช้หมอนหนุนแขน หรือขาที่เข้าเฝือก
  • เวลาเดิน/ยืน  ให้ใช้ผ้าคล้องคอสำหรับผู้ที่ใส่เฝือกแขวน

7. มาพบแพทย์ตามนัดเสมอ  ถ้ามีอาการผิดปกติต่อไปนี้  ให้รีบมาพบแพทย์ทันทีก่อนวันนัด

 

ความรู้สู่ประชาชน

กองออร์โธปิดิกส์

รพ.พระมงกุฎเกล้า

 

ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15/06/2010

FollowHisSteps.com

ได้รับการสนับสนุน Web Hosting จาก SPAComputer.com, ThaWang.com