อัมพาตกับโรคหลอดเลือดสมอง
 

โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease) หรือที่บางคนเรียกว่า  โรคที่มากับความเจริญ  เพราะมีสาเหตุมาจากการดำเนินชีวิต  อาหารการกิน สภาพแวดล้อม และอาจมีผลจากพันธุกรรมเข้ามาร่วมด้วย

 

วงจรการเกิดอัมพาต จากโรคหลอดเลือดสมอง

เส้นเลือดในสมองแตก ตีบ หรือตัน -->  สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง สมองตาย หรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ -->  อวัยวะที่สมองส่วนดังกล่าวควบคุมหยุดทำงาน หรือสูญเสียสมรรถภาพ -->  เกิดอาการอ่อนแรง หรือการรับความรู้สึกผิดปกติ --->  ทำให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง  ได้แก่

  • อ่อนแรงแบบถาวร  ไม่มีการฟื้นตัว  แต่อาจมีอาการเกร็งร่วมด้วย (อัมพาต)
  • อ่อนแรงชั่วคราว  มีการฟื้นตัวบางส่วน (อัมพฤกษ์)

 

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

1. ความดันโลหิตสูง  ภาวะความดันโลหิตสูง  ทำให้หลอดเลือดเสื่อม  เนื่องจากแรงดันเลือดที่ออกมาจากหัวใจมีแรงดันสูงขึ้น  ทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมเร็ว  ขาดความยืดหยุ่น และแตกเปราะง่าย  พบว่ากว่า 35 - 73 % ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง  มีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย

2. เบาหวาน  เป็นปัจจัยสำคัญรองมาจากภาวะความดันโลหิตสูง

3. ความอ้วน  ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก  มีโอกาสเป็นเบาหวาน และความดันโลหิตสูง  หรืออาจเป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง

4. ไขมันในเลือดสูง  ทำให้ผนังเส้นเลือดแดงไม่ยืดหยุ่น  เกิดการตีบตันง่าย  เลือดจึงไหลผ่านไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อย  ถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง  จะทำให้สมองขาดเลือด และเป็นอัมพาตในที่สุด

5. การสูบบุหรี่และดื่มสุรา  การดื่มสุราจะทำให้หลอดเลือดเปราะ หรือเลือดออกง่าย  เช่นเดียวกับผู้ที่สูบบุหรี่จะพบว่ามีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

6. ความเข้มข้นของเลือด  ถ้ามีฮีโมโกลบินสูงกว่าปกติ  ก็มีโอกาสเกิดโรคได้

7. โรคหัวใจ  เช่น  โรคหัวใจวาย  โณคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ

8. ยาต่าง ๆ  เช่น  สตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดร่วมกับเป็นความดันโลหิตสูง

9. อายุที่มากขึ้น  จะมีความสัมพันธ์ต่อการเสื่อมของหลอดเลือด

10. การดำเนินชีวิต  บุคคลที่ดำเนินชีวิตด้วยความเครียด  ไม่รู้จักผ่อนคลาย  ร่างกายจะสึกหรอเร็ว และเจ็บป่วยง่าย  กล้ามเนื้อ ข้อต่าง ๆ ของร่างกาย  รวมถึงหลอดเลือดก็พลอยเสื่อมเร็วขึ้นด้วย

 

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

ในปัจจุบันการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง  ทำได้ด้วยวิธีการให้ยา และ/หรือ การผ่าตัด  ซึ่งผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์ภายใน 3 ชั่วโมง  หลังจากเกิดอาการ  โดยในช่วง 3-7 วันแรกของการเจ็บป่วย  ถือเป็นระยะวิกฤตที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้  ซึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาในโณงพยาบาลหรืออยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด  สำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแต่ละรายจะค่อนข้างสูง  ประมาณว่าผู้ป่วยโรคนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อราย  ซึ่งมีการประเมินพบว่า  ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง  ไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 คน

 

จะเห็นได้ว่า  การดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองได้ง่าย  เมื่อทราบสาเหตุแล้ว  ควรระมัดระวังในการดำเนินชีวิต และหาวิธีป้องกันตนเอง และคนในครอบครัว  โดยพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ  แต่สำหรับบางรายที่เกิดโรคนี้ขึ้นแล้ว  ก็สามาราถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ  หรือขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัว  จากทีมฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์  ซึ่งประกอบด้วย  แพทย์  พยาบาล  นักกิจกรรมบำบัด  นักกายภาพบำบัด  ช่างกายอุปกรณ์  ซึ่งประจำอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพต่าง ๆ  หรือตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศ

ผลลัพธ์ที่คาดหวังได้จากการเข้ารับการฟื้นฟู  คือ  การที่ผู้ป่วย  จะสามารถฝึกทำกิจวัตรประจำวันได้เอง  หรือเดินได้  แม้ว่าจะไม่มีการฟื้นตัวของอาการอ่นแรงของกล้ามเนื้อก็ตาม

 

งานกิจกรรมบำบัด

ศูนย์สิรินธร เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาดิ

กรมการแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข

 

ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15/06/2010

FollowHisSteps.com

ได้รับการสนับสนุน Web Hosting จาก SPAComputer.com, ThaWang.com