เบาหวานเข้าตา
 

"เบาหวาน"คืออะไร

เบาหวานเกิดจากความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญน้ำตาลในร่างกาย  ส่งผลต่อระบบเส้นเลือดทั่วร่างกาย  โดยเฉพาะที่ดวงตา  และมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมได้

 

เบาหวานมีผลอย่างไรต่อร่างกาย

อาจเป็นสาเหตุทำให้ตาบอด  เหน็บชา  ไตวาย  เพิ่มโอกาสของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก

 

ความผิดปกติทางตาจากเบาหวาน

ตาแห้งเนื่องจากน้ำตาน้อยลง  ประสาทสมองเส้นที่ 3,4,6 เป็นอัมพาต  สายตาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากภาวะน้ำตาลสูง  ผิวกระจกตาถลอกได้ง่าย  มีเส้นเลือดงอกใหม่ที่ม่านตา  ต้อกระจกเกิดเร็วกว่าปกติ  เกิดต้อหินมุมเปิดมากกว่าคนปกติ  เบาหวานเข้าจอประสาทตา  อาจทำให้ตาบอดได้

 

เบาหวานเข้าจอประสาทตา พบบ่อยแค่ไหน และเป็นอย่างไร

ความผิดปกติที่จอประสาทตานี้จะพบได้บ่อยเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน  พบว่าประมาณ 60% ของผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมากกว่า 15 ปี  จะมีความผิดปกติของเส้นเลือดที่จอประสาทตา  เราสามารถแบ่งง่าย ๆ ได้เป็น 2 ระยะใหญ่ ๆ  คือระยะเริ่มต้นและระยะรุนแรง

ระยะเริ่มต้น

จะตรวจพบความผิดปกติของจอประสาทตา  มีลักษณะเป็นจุดเลือดออกขนาดเล็กและขนาดใหญ่  มีการรั่วซึมและตกตะกอนของสารไลโปโปรตีน  เส้นใยประสาทตาขาดเลือดมาเลี้ยง  อาจพบมีจุดรับภาพบวมน้ำร่วมด้วยได้

ระยะรุนแรง

ตรวจพบมีเส้นเลือดงอกใหม่  ซึ่งผิดปกติที่จอประสาทตาและขั้วประสาทตา  เส้นเลือดเหล่านี้จะเปราะบาง และแตกง่าย  ทำให้เกิดมีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา  อาจพบมีแผ่นพังผืดร่วมกับเส้นเลือดที่ผิดปกตินี้  และอาจมีการหดดึงรั้งของพังผืด  ทำให้เกิดการฉีกขาดและลอกตัวของจอประสาทตาตามมาได้  ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยมักจะมีระดับสายตาลดลงมากอย่างรวดเร็ว

ถ้ามีเส้นเลือดงอกใหม่ที่ม่านตา  จะเกิดการอุดตันทางระบายน้ำของช่องหน้าม่านตา  ทำให้เกิดความดันตาสูงขึ้น  เกิดต้อหินชนิดหลอดเลือดงอกใหม่  ซึ่งรักษาได้ยากและเป็นสาเหตุของตาบอดได้อีกด้วย

 

เราจะป้องกันและรักษาอย่างไร

1. ป้องกันไม่ให้เป็นเร็วและเป็นมากขึ้นโดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้

2. การฉายเลเซอร์ที่จอประสาทตาจะทำในกรณีที่มีจุดรับภาพบวมน้ำ และในรายที่มีเบาหวานเข้าจอประสาทตาระยะรุนแรง เพื่อไปทำลายและหยุดการขยายตัวของเส้นเลือดที่งอกใหม่

3. ผู้ป่วยที่มีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาที่อาการไม่ดีขึ้น หลังจากรอในระยะเวลาหนึ่ง  จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดน้ำวุ้นลูกตา

4. ผู้ป่วยที่มีจอประสาทตาขาดหลุดลอกแล้ว  จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษาจอประสาทตา

 

เมื่อไรต้องมารับการตรวจจอประสาทตา

ในผู้ป่วยที่เริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุน้อยกว่า 30 ปี  ควรมารับการตรวจจอประสาทตาภายใน 5 ปี  หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน

ในผู้ป่วยที่เริ่มเป็นเบาหวานเมื่ออายุน้อยว่า 30 ปี  ควรมารับการตรวจจอประสาทตาในทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน

 

ควรมารับการตรวจจอประสาทตาบ่อยแค่ไหน

ในกรณีที่ตรวจครั้งแรกไม่พบมีความผิดปกติของเบาหวานเข้าจอประสาทตา  จักษุแพทย์จะแนะนำให้มาตรวจทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

แต่ถ้าตรวจพบมีเบาหวานเข้าจอประสาทตาแล้ว  การนัดมาตรวจครั้งต่อไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเบาหวานเข้าจอประสาทตา  ซึ่งถ้าเป็นในระยะไม่รุนแรง  อาจนัดมาตรวจซ้ำทุก 4-6 เดือน  แต่ถ้าเป็นในระยะรุนแรง  อาจต้องมาตรวจทุก 1-2 เดือน

 

สรุป

การรักษาเบาหวานเข้าจอประสาทตาจะได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน  ขึ้นอยู่กับการตรวจพบและให้การรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ  ที่สำคัญมาก คือ  การควบคุมอาหารและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ  เพื่อที่จะลดโอกาสการเกิดเบาหวานเข้าจอประสาทตา  รวมถึงผลแทรกซ้อน ซึ่งอาจนำไปสูภาวะตาบอดได้ในที่สุด

 

กองจักษุกรรม
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

 

ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15/06/2010

FollowHisSteps.com

ได้รับการสนับสนุน Web Hosting จาก SPAComputer.com, ThaWang.com