การออกกำลังเพื่อสุขภาพ
 

ความจำเป็นของการออกกำลัง

โดยปกติมนุษย์จะมีการเคลื่อนไหวเป็นประจำ  ถ้าการเคลื่อนไหวไม่เพียงพอ  อาจทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม  ในที่สุดอาจเกิดโรค  จนถึงกับเสียชีวิตได้  เช่น  โรคหัวใจ  ซึ่งมักเกิดกับคนที่นั่งทำงานอยู่กับที่ และไม่ค่อยมีเวลาออกกำลัง

นอกจากนี้  ยังมีโรคความดันโลหิตสูง  โรคเครียด  กล่าวโดยทั่วไป  คนที่มีการออกกำลังไม่เพียงพอ  ย่อมมีสุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรง  ถ้าได้ออกกำลังบ้างก็จะแก้ไขสภาวะผิดปกติได้  เพื่อความสมบูรณ์ของร่างกาย และช่วยให้อายุยืนยาว

การออกกำลังให้เหมาะกับสภาพร่างกาย  โดยเฉพาะผู้สูงอายุ  ถ้าไม่จัดให้เหมาะสม อาจเป็นผลเสียได้  ดังนั้น  จำเป็นต้องตรวจร่างกายก่อนออกกำลังและทดสอบผลการออกกำลังเป็นระยะ ๆ  เพื่อจะได้ปรับการออกกำลังให้เหมาะกับสภาพร่างกายอยู่เสมอ

 

คุณและโทษของการออกกำลัง

การออกกำลังที่ถูกต้องในวัยเด็ก  คือ  การออกกำลังที่จะทำให้ร่างกายเจริญเติบโตสมวัน

ในวัยหนุ่มสาว  การออกกำลังช่วยให้ระบบประสาทและจิตใจทำงานได้ดีเป็นปกติ

สำหรับผู้สูงอายุ  การออกกำลังจะช่วยป้องกันและรักษาโรคที่เกิดกับผู้สูงอายุ  เช่น  อาการอ่อนล้า  ท้องผูก  วิงเวียนศีรษะ  ข้อเสื่อม  หน้ามืด

การออกกำลังก็อาจจะให้โทษได้เช่นกัน  ถ้าการออกกำลังนั้นไม่เหมาะกับร่างกาย  เช่น  หนักเกินไป  ยาวเกินไป

 

ข้อระวัง และข้อห้ามการออกกำลัง

สำหรับคนทั่วไป  ควรงดออกกำลังชั่วคราวในภาวะต่อไปนี้

  1. เป็นไข้ หรืออักเสบส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
  2. หลังจากฟื้นไข้ใหม่ ๆ
  3. หลังจากรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ
  4. ในเวลาที่อากาศร้อนจัด หรืออบอ้าวมาก ๆ

สาเหตุสำคัญที่ห้ามออกกำลัง  คือ  ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ  ความดันโลหิต  เบาหวาน  โรคอ้วน  ถ้าต้องการออกกำลังควรอยู่ในการควบคุมของแพทย์

 

หลักของการออกกำลังเพื่อสุขภาพ

1. ต้องใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป  คือ  ออกกำลังแบบง่าย ๆ และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเป็นลำดับ

2. ต้องให้ทุกส่วนของร่างกายได้ออกกำลัง  ไม่ควรเน้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง

3. การออกกำลังควรทำโดยสม่ำเสมอ  หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

 

การตรวจสอบตนเอง

ในการออกกำลังเพื่อสุขภาพ  ควรทำการตรวจสอบตนเองเป็นระยะ ๆ  เพื่อจะได้ทราบว่าการออกกำลังนั้นได้ผลเพียงใด  นอกจากนั้น  ควรไปพบแพทย์ทำการตรวจเป็นครั้งคราว  เพื่อรับคำแนะนำว่าควรเปลี่ยนแปลงการออกกำลังที่ทำอยู่หรือไม่

 

การทดสอบที่ควรทำด้วยตนเองได้

1. การชั่งน้ำหนัก  เพื่อตรวจสอบว่ามีการลด หรือเพิ่มผิดปกติหรือไม่

2. การนับชีพจน  ควรมีการนับและบันทึกชีพจนก่อนออกกำลัง และหลังออกกำลังทันที  โดยนับชีพจร 10 วินาที  แล้วคุณ 6  จะเป็นชีพจรขณะออกกำลัง 1 นาที

 

อาการที่แสดงว่าควรหยุดออกกำลัง

  1. เหนื่อยผิดปกติ
  2. หายใจขัด
  3. เวียนศีรษะ
  4. คลื่นไส้  อาเจียน
  5. หน้ามืด

เมื่อมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น  ให้หยุดออกกำลังทันที  และลงนั่ง หรือนอนราบ  จนอาการดีขึ้น  ไม่ควรออกกำลังต่อไปอีก  หรือควรไปพบแพทย์ทำการตรวจร่างกาย

 

แผนกเวชศาสตร์การกีฬา  กองเวชศาสตร์ฟื้นฟู

โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

 

ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15/06/2010

FollowHisSteps.com

ได้รับการสนับสนุน Web Hosting จาก SPAComputer.com, ThaWang.com