ปวดหลัง ป้องกันและแก้ไขได้อย่างไร
 

หลัง หรือกระดูกสันหลังที่ดี  เมื่อมองดูด้านหลังต้องตรง  ไม่คดงอ  เคลื่อนไหวได้คล่อง  ไม่มีอาการเจ็บปวด

ปวดหลังเป็นอาการที่พบบ่อย  สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากกล้ามเนื้อหลังไม่แข็งแรง  หรือท่าทางไม่ถูกต้อง  แพทย์และนักกายภาพบำบัด เป็นเพียงผู้ช่วยให้อาการปวดทุเลา  ท่านสามารถกลับเป็นได้อีก  ท่านสามารถป้องกันไม่ให้ปวดหลังได้  ถ้ารู้สาเหตุและการป้องกัน

 

สาเหตุที่พบบ่อย

1. กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง  ร่วมกับการใช้หลังที่ไม่ถูกต้อง หรือมากเกินไป  เช่น  ท่านั่ง นอน ยืนไม่ดี หรือ อ้วน น้ำหนักมาก

2. การบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง  กล้ามเนื้อเอ็น  พบจากการเล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุ

3. หมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท  พบจากการยกน้ำหนักมากเกินไป  มักมีอาการปวดหลัง ร้าวไปที่ขา

4. การเสื่อมสภาพตามวัย

 

การป้องกันอาการปวดหลัง

1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าเดียวนาน ๆ  โดยเฉพาะท่านั่ง

2. การนั่ง

  • เก้าอี้สูงพอดีที่เท้าทั้งสองราบติดพื้น
  • นั่งให้เต็มที่ของเก้าอี้
  • หลังพิงสนิทกับพนักพิง

3. การนอน

  • นอนหงาย  งอเข่าโดยใช้หมอนรองใต้เข่าทั้งสองข้าง
  • นอนตะแคง  งอเข่า หรือกอดหมอนข้าง  การงอเข่าจะช่วยให้กระดูกสันหลังไม่แอ่น
  • ไม่ควรนอนที่นอนนุ่มเกินไป  เช่น  เตียงสปริง
  • การลุกจากเตียง  การนอนลง  ควรตะแคงตัวโดยใช้ข้อศอก และมือยันตัว

4. การยืน

  • ยืนนาน ๆ ขณะทำงาน  ควรมีที่พักเท้าสลับข้างบ่อย ๆ  เพื่อให้ได้งอเข่า

5. การเดิน

  • หลังตรง อกผาย ไหล่ผึ่ง
  • ไม่ควรสวมรองเท้าส้นสูง

6. ไม่ควรเขย่ง ทำอะไรในที่สูง ๆ ควรเช้าเก้าอี้ต่อ

7. การยกของ  ควรยกด้วยเข่าดังนี้

  • ย่อเข่าลง  งอสะโพก หลังตรง
  • ของที่ยกต้องอุ้มชิดตัว
  • อย่ายกของที่มีน้ำหนักมากเกินไป

8. อย่าให้น้ำหนักตัวมากเกินไป

เกณฑ์การเทียบน้ำหนัก กับส่วนสูง

เพศชาย :  ส่วนสูง (ซม.) - 105 = น้ำหนัก + 10 kg

เพศหญิง :  ส่วนสูง (ซม.) - 110 = น้ำหนัก + 10 kg

เช่น  ชายสูง 170 ซม.  น้ำหนักควรอยู่ระหว่าง 65 + 10 kg (หรือเท่ากับ 55-75 kg)

9. ถ้ามีอาการปวดหลัง  อาจใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางบริเวณที่ปวดนาน 20-30 นาที  แต่ถ้ามีอาการปวดหลังร้าวลงขา  ควรรีบปรึกษาแพทย์  เพราะอาจเกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

10. ควรออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังแข็งแรงอยู่เสมอ

  • นอนคว่ำ  ใช้หมอนหนุนใต้ท้อง
  • ค่อย ๆ ยกศีรษะขึ้น  ค้างไว้ 3-5 วินาที  แล้วค่อย ๆ ลดศีรษะลง
  • ทำซ้ำ 5-10 นาที

(หมายเหตุ  วิธีนี้จะทำได้เฉพาะผู้ป่วยบางราย  เช่น  ไม่มีกระดูกสันหลังยึดติดชนิด stenosis)

 

ความรู้สู่ประชาชน

กองออร์โธปิดิกส์

รพ.พระมงกุฎเกล้า

 

ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15/06/2010

FollowHisSteps.com

ได้รับการสนับสนุน Web Hosting จาก SPAComputer.com, ThaWang.com