เด็กกับการเรียน
 

ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องการให้เด็กของตนเรียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถส่งเสียได้  โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าการที่เด็กจะมีผลสำเร็จในการเรียนนั้น  จะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการ  นับตั้งแต่ความสามารถของตัวเด็กเอง บรรยากาศในบ้านที่อบอุ่น  และสิ่งแวดล้อมที่ดีในโรงเรียน  เมื่อเด็กมีผลการเรียนต่ำกว่าความคาดหมาย  ผู้ปกครองจะรู้สึกเดือดร้อนกังวล  และพยายามที่จะผลักดันเคี่ยวเข็ญเด็กให้มากขึ้น  โดยมิได้ค้นหาว่ามีสาเหตุอะไรที่ทำให้เด็กเรียนต่ำลง  การกระทำเช่นนั้น ๆ จะยิ่งเป็นผลเสียต่อเด็ก และทำให้เด็กมีปัญหาการเรียนเพิ่มมากขึ้น

 

ปัญหาการเรียนของเด็ก  มีสาเหตุจากอะไร

1. จากตัวเด็กเอง

1.1 ความเจ็บป่วยทางกาย

เด็กที่ป่วยบ่อย ๆ มาตั้งแต่เล็ก  หรือมีโรงเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคหอบหืด  โรคไต  โรคหัวใจ  ทำให้ต้องขาดเรียนบ่อย ๆ  เรียนไม่ทันเพื่อน

1.2 ความสามารถทางสติปัญญาและการเรียนรู้

เด็กบางคนมีระดับสติปัญญาน้อยกว่าเพื่อน  ไม่สามารถเรียนรู้บทเรียนได้เท่าเพื่อน  ผู้ปกครองจะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ระยะแรกของการเจริญเติบโต  โดยที่เด็กจะพัฒนาช้ากว่าเด็กอื่นในอายุเดียวกัน  เช่น  เดินช้า  พูดช้า

1.3 ความผิดปกติของสมาธิ

เด็กที่มีอาการซนอยู่ไม่สุข  ความสนใจสั้น  ขาดสมาธิในการเรียน  เนื่องจากมีความผิดปกติของระบบสมอง

1.4 สุขภาพจิตของเด็ก

เด็กที่มีลักษณะซึมเศร้า  หงอยเหงา  ตื่นเต้น  ตกใจง่าย  วิตกกังวล  เป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีความสุข  หรือเป็นเด็กที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ขาดความกระตือรือร้น  ขาดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์

2. สาเหตุจากผู้ปกครอง

2.1 ผู้ปกครองไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาของเด็ก  ไม่สนับสนุนให้เด็กไปโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ  ปล่อยให้เด็กขาดเรียนอย่างไม่มีเหตุผลที่สมควร  หรือผ็ปกครองที่ไม่สนใจดูแลติดตามการเรียนของเด็ก  ไม่ดูแลให้เด็กทำการบ้าน  ไม่จัดให้มีอุปกรณ์การเรียน  เป็นต้น

2.2 ครอบครัวที่มีความขัดแย้งกันเสมอ ๆ  เกิดการทะเลาะวิวาทเป็นประจำ  ทำให้บรรยากาศของครอบครัวไม่มีความสุข  เป็นผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็ก

3. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ

3.1 โรงเรียนอยู่ไกลจากบ้านมากเกินไป  เด็กต้องเหน็ดเหนื่อย  และเสียเวลาในการเดินทาง  ทำให้อ่อนเพลียเกินกว่าที่จะเรียนได้

3.2 โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม  มีเสียงรบกวนมากเกินไป  เพราะต้องอยู่ริมถนน หรือบริเวณตลาดที่มีกลิ่นรบกวน  หรือห้องเรียนที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ

3.3 ครูที่สุขภาพจิตไม่ดี  หงุดหงิด  อารมณ์เสีย  ทำโทษเด็กรุนแรงเกินไป  ทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน

3.4 เด็กอื่น ๆ ในโรงเรียนมีปัญหาสุขภาพจิตมาก  เช่น  ความประพฤติเกเร  ก้าวร้าว  ติดสารเสพติด

 

ข้อปฏิบัติของผู้ปกครอง

1. ยอมรับในระดับสติปัญญา และความสามารถของเด็กแต่ละคน  พยายามให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสภาพ  ถ้าเด็กไม่สามารถเรียนในสายสามัญได้ ควรสนับสนุนให้เด็กเรียนในสายอาชีพแทน

2. ไม่แสดงความดูถูก หรือรังเกียจเด็กที่เรียนหนังสือไม่เก่ง  ไม่เปรียบเทียบผลการเรียนของเด็กแต่ละคน  แต่ควรแสดงความเห็นใจและให้กำลังใจ  เด็กใช้ความสามารถเต็มที่

3. ควรส่งเสริมจริยธรรม (ความกตัญญู  ความซื่อสัตย์  ความเอื้อเฟื้อ  เป็นต้น)  ให้กับเด็ก  ควบคู่ไปกับความรู้ด้วย

4. เอาใจใส่  ติดตามผลการเรียนของเด็กอย่างสม่ำเสมอ (แต่ไม่เคี่ยวเข็ญจนเกินไป)  ถ้าพบสิ่งผิดปกติ  เช่น  การเรียนตกต่ำลง หรือความประพฤติเปลี่ยนไป  ควรรีบหาสาเหตุและแก้ไขตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก

 

บริการสุขภาพจิต

เมื่อต้องการคำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเรียน หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ มารับบริการได้ที่ คลินิกสุขภาพจิต  ประจำศูนย์บริการสาธารณสุข  สำนักอนามัย  กรุงเทพมหานคร  หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 022465201  ในวันและเวลาราชการ

 

ขจัดต้นเหตุแห่งปัญหา  ช่วยพัฒนาการเรียนเด็ก

 

ฝ่ายส่งเสริมสุขภาพจิต  กองส่งเสริมสุขภาพจิต

 

ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15/06/2010

FollowHisSteps.com

ได้รับการสนับสนุน Web Hosting จาก SPAComputer.com, ThaWang.com