การเดินด้วยไม้ค้ำยัน
 

ไม้ค้ำยัน  เป็นอุปกรณ์ช่วยในการเดินที่รับน้ำหนักของร่างกายได้ประมาณ 70 %  วัสดุที่ใช้อาจทำด้วยไม้ หรืออะลูมิเนียม

ไม้คำยันควรเป็นชนิดที่ปรับระดับได้  และส่วนปลายควรมียางสวมกันลื่น  ขนาดความยาวพอดี  ไม่สั้นหรือยาวเกินไป

 

ประโยชน์ของไม้ค้ำยัน

1. เพิ่มความมั่นคงในการทรงตัวขณะเดิน

2. แบ่งเบาภาระการลงน้ำหนัก และการรับน้ำหนักของขาทั้งสองข้าง

 

การวัดขนาดไม้ค้ำยัน

ความยาวของไม้ค้ำยัน

วัดโดยให้ผู้ป่วยยืนตรง  กางแขนตรงในแนวราบระดับไหล่  ให้ส่วนพักรักแร้อยู่ต่ำกว่ารักแร้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร

ระดับของส่วนที่ใช้มือจับ

เมื่อได้ขนาดความยาวของไม้ค้ำยัน  ให้ใช้มือจับส่วนใช้มือจับ  ถือไม้ค้ำยันใต้รักแร้ให้ตั้งตรง  ในขณะแขนงอ  ให้ศอกทำมุม 20-30 องศา

 

ข้อควรปฏิบัติในการใช้ไม้ค้ำยัน

- ก่อนเดินด้วยไม้ค้ำยัน  ควรใส่รองเท้าคู่ที่พอดี  สำรวจปลายไม้ค้ำยันมียางสวมกันลื่น

- ยืนด้วยขาข้างที่ดี  และทรงตัวให้ดี  ยืนตัวตรง  ศีรษะและตามองไปข้างหน้า

- วางไม้ค้ำยันห่างจากนิ้วเท้าไปด้านหน้าประมาณ 6-8 นิ้ว

- ให้ไหล่และหลังตรง  ไม่ควรโค้งงอไปตามไม้ค้ำยัน

- ลงน้ำหนักที่มือ  ไม่ลงน้ำหนักที่รักแร้ เพราะจะทำให้เป็นอันตรายต่อเส้นประสาทบริเวณรักแร้

- ควรสำรวจไม้ค้ำยันให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ

 

วิธีการเดินด้วยไม้ค้ำยัน

1. เดินโดยใช้ไม้ค้ำยัน 1 คู่ และขารับน้ำหนัก 4 จุด (Four point gait)

ท่าเดินแบบนี้  เป็นท่าที่มั่นคง ปลอดภัย  ใช้ในผู้ป่วยที่ลงน้ำหนักขาได้บ้างทั้ง 2 ข้าง

รูปแบบการเดิน

  • ยืนตรงพร้อมไม้ค้ำยันทั้งคู่
  • ยกไม้ค้ำยันข้างขวาก้าวไปข้างหน้า  ก้าวขาซ้ายตามไป  วางเท้าในระดับเสมอไม้ค้ำยันข้างขวา
  • ยกไม้ค้ำยันข้างซ้ายก้าวไปข้างหน้า  ก้าวขาขวาตามไป  วางเท้าในระดับเสมอไม้ค้ำยัน

2. เดินโดยใช้ไม้ค้ำยัน 1 คู่ และขารับน้ำหนัก 2 จุด (Two point gait)

เป็นท่าเดินที่เดินได้เร็วขึ้น  ต้องการการทรงตัวที่ดี

รูปแบบการเดิน

  • ยกไม้ค้ำยันข้างขวา และเท้าซ้ายก้าวไปพร้อม ๆ กัน  สลับกันไปเรื่อย ๆ

3. เดินโดยขาข้างผิดปกติไม่รับน้ำหนักตัว  ใช้ข้างปกติและไม้ค้ำยัน 1 คู่ รับน้ำหนัก รวม 3 จุด (Three point gait)

ท่าเดินที่ใช้ในผู้ป่วยที่ลงน้ำหนักขาได้เล็กน้อย หรือไม่ให้ลงน้ำหนักขาข้างนั้นเลย  เช่นผู้ป่วยใส่เฝือกปูนที่ขา  หลังผ่าตัดใส่โลหะ หรือผู้ป่วยที่ถูกตัดขา  เป็นต้น

ผู้ป่วยที่เดินท่านี้  ต้องอาศัยการทรงตัวที่ดี  และแขนต้องแข็งแรง  พยุงน้ำหนักตัวได้

รูปแบบการเดิน

  • ยืนตรงพร้อมไม้ค้ำยันทั้งคู่
  • ยกไม้ค้ำยันทั้งคู่ไปข้างหน้า  พร้อมขาข้างผิดปกติแตะพื้นเบา ๆ หรือยกลอยไว้
  • เหยียดแขนทั้งสองข้างตรง  ลงน้ำหนักตัวที่มือทั้งสองข้าง  ก้าวขาข้างปกติไปข้างหน้า  ให้ขานี้รับน้ำหนักตัว

4. โหนตัวผ่านเลยไม้ค้ำยัน (Swing through gait)

เป็นท่าเดินที่ใช้ในผู้ป่วยอัมพาตขาทั้ง 2 ข้าง  ใส่อุปกรณ์เสริมสำหรับขาไว้  เช่น  เบรส (Brace)

รูปแบบการเดิน

  • ยกไม้ค้ำยันทั้ง 2 ข้างไปข้างหน้า
  • ยกตัวขึ้นโหนตัวไปข้างหน้า  ให้เลยไม้ค้ำยันไปเล็กน้อย

 

ความรู้สู่ประชาชน

กองออร์โธปิดิกส์

รพ.พระมงกุฎเกล้า

 

ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15/06/2010

FollowHisSteps.com

ได้รับการสนับสนุน Web Hosting จาก SPAComputer.com, ThaWang.com