คู่มือการขึ้นรถเมล์
 

[ ... ทความนี้  ดัดแปลงมาจากบทความของคุณ ชิน ปิ่นเกล้า (คุณชินกรณ์ : webmaster http://www.christianthai.net).  หนังสือสตรีสาร ปีที่ 34 ฉบับที่ 25 หน้า 6,7,123. (20 กันยายน 2524)  โดยปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์รถเมล์ในปัจจุบันมากที่สุด ... ]

ในปัจจุบัน  ปัจจัยสี่  อันได้แก่  อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค นั้น  คงจะไม่เพียงพอกับความต้องการของคนเราเสียแล้วครับ  ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน  เช่น  หนังสือพิมพ์  ทีวี  วิทยุ  รถโดยสารประจำทาง หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า "รถเมล์"  รถไฟฟ้า  และอื่น ๆ อีกมากมาย

ในที่นี่จะขออนุญาตพูดถึงเฉพาะเรื่อง "รถเมล์" เท่านั้นครับ  เนื่องจากเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันอย่างชนิดที่ขาดไม่ได้  เราจึงควรศึกษาเกี่ยวกับรถเมล์บ้างพอสมควร  นี่คือที่มาของ "คู่มือการขึ้นรถเมล์"

"คู่มือการขึ้นรถเมล์" ที่เขียนขึ้นมานี้  ไม่ได้เขียนขึ้นมาในเชิงวิชาการ  แต่จะเขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้รับมาอย่างโชกโชนในการขึ้นรถเมล์  ซึ่งขึ้นมาตั้งแต่เด็ก จนปัจจุบันก็ยังคงใช้บริการอยู่  และคงจะใช้บริการต่อไปจนกว่าจะจากกันไปข้างหนึ่ง

"รถเมล์" พอพูดถึงคำนี้  ทุกคนก็นึกถึงคุณภาพของผู้คนที่พยายามยัดเยียดเบียดเสียดขึ้นไปให้ได้  ถ้าขึ้นไม่ได้ก็ขอให้มีที่สักนิดเดียวก็พอ สำหรับวาง (หัวแม่) เท้า เพื่อไว้โหน  ทำให้ผมนึกถึงกายกรรมระดับมืออาชีพ เช่น กายกรรมกวางเจาที่ว่าแน่ ที่สามารถขึ้นไปยืนอยู่บนจักรยานคนเดียวได้เกือบสิบคน  แต่ถ้ามาเจอกายกรรม (แบบจำใจ) สมัครเล่นของไทยเรา  แค่บันไดทางขึ้นรถเมล์ก็สามารถห้อยโหนกันได้สิบกว่าคนแล้ว  กายกรรมกวางเจาก็คงจะไม่กล้านำชุดกายกรรมนั้นออกมาโชว์เป็นแน่

เมื่อพูดถึงด้านบริการของ "ขสมก."  ถ้าถามความเห็นจากผู้โดยสาร  ร้อยทั้งร้อยก็คงจะส่ายหน้าครับ  บางคนก็ถึงกับก่นด่า ชนิดที่ถ้าผมนำเอาภาษาดอกไม้เหล่านั้นมาลง  คงต้องถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาทเป็นแน่ครับ

"คู่มือการขึ้นรถเมล์" นี้  ผมจะขอแบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ  6 หัวข้อครับ  ได้แก่

 

1. ป้ายรถเมล์

ผมคงจะไม่จำเป็นต้องสาธยายว่า เจ้าป้ายรถเมล์นี้มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรนะครับ  ผมเชื่อว่าทุกคนคงจะรู้จักกันเป็นอย่างดีแล้วใช่ใหม่ครับ

ายรถเมล์นั้น  แบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่  ได้แก่  ป้ายเป็น กับ ป้ายตาย

1.1 ป้ายเป็น  ไม่ได้หมายถึงป้ายที่มีชีวิตจิตใจ  แต่หมายถึงป้ายรถเมล์ที่มีผู้โดยสารขึ้นลงตลอดเวลา  ได้แก่  ป้ายตามแหล่งชุมชนต่าง ๆ  เช่น  ตามห้างต่าง ๆ  อนุสาวรีย์ชัยฯ  เป็นต้น  ป้ายเหล่านี้  ข้อดีก็คือ  รถเมล์มักจะจอดเกือบทุกคน  แต่ข้อเสียก็คือ  การขึ้นรถเมล์นั้น จะขึ้นได้ยากมาก  เราจำเป็นต้องศึกษาธรรมชาติของรถเมล์แต่ละสายให้ดีครับ  ว่าสายใดจอดป้ายอย่างไรบ้าง 

เช่น  รถเมล์ของ ขสมก. ที่ได้รับ ISO แล้ว  มักจะเคร่งเป็นพิเศษ  ถ้าไม่ถึงป้ายที่เขียน "Bus Stop" จริง ๆ จะไม่ยอมจอด  แม้ว่าจะห่างแค่เพียง 1 เมตร หรือรถติดสักเพียงใด หรือคนจะมายืนรอมากสักเพียงใด  ก็ไม่สน  ซึ่งจะตรงข้ามกับรถร่วมบริการครับ  ซึ่งมักจะจอดทุกที่ที่มีคนขึ้น  แม้จะไม่ใช่ป้ายรถเมล์  (บางส่วน เนื่องจากประตูมักจะปิดไม่ได้)

ดังนั้น  ถ้าจะรอรถร่วมบริการ  ควรจะรอที่ต้น ๆ ของป้าย ที่ที่คนรอเยอะ ๆ  แต่ถ้ารอรถ ขสมก. ที่ได้ ISO  ควรจะรอที่ปลาย ๆ ป้าย ที่มีป้าย Bus Stop อยู่  เพื่อจะได้ไม่ต้องวิ่งมาก

1.2 ป้ายตาย  ตรงข้ามกับป้ายเป็นครับ  จะเป็นป้ายที่ไม่ค่อยมีคนขึ้นลง  รถเมล์มักจะวิ่งผ่านไปเลยไม่จอด นอกจากมีคนลงเท่านั้น  ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์มากถ้าท่านจะลองหัดสังเกตรถเมล์ที่เราจะขึ้น เพื่อเราจะได้โบกรถเมล์ล่วงหน้า เพิ่มโอกาสที่รถเมล์จะยอมจอดมากขึ้น  และถ้าเป็นไปได้  ควรจะหาเพื่อน ๆ ที่มาส่ง มาช่วยกันโบกรถเมล์ แม้ว่าจะไม่ได้ขึ้นสายเดียวกันก็ตาม  เพื่อเพิ่มพลังแห่งการโบก  (คนขับรถเมล์คิดว่ามีคนขึ้นหลายคน จึงยอมจอด)

สมัยก่อน ป้ายรถเมล์เป็นเพียงเครื่องหมายแสดงถึงจุดที่ที่รถเมล์จะจอดรับส่งผู้โดยสารเท่านั้นครับ  เดี๋ยวนี้  ป้ายรถเมล์ได้มีการพัฒนาขึ้น เพื่อให้คุณประโยชน์แก่ผู้โดยสารเต็มที่  โดยได้มีการเขียนป้ายบอกไว้ว่ามีสายใดผ่านป้ายนี้บ้าง   และบางป้ายรถเมล์ได้มีการสร้างที่นั่งรอรถเมล์  ซึ่งดูสวยงาม (แต่นั่งแล้วเมื่อยก้นเหลือเกิน)  มีป้ายโฆษณาแสนสวยอยู่  ไว้สำหรับดูเล่นยามรอรถเมล์

แต่อย่างไรก็ตาม  อยากขอเตือนนะครับว่า อย่าไปเชื่อป้ายที่บอกว่ามีสายรถเมล์สายใดผ่านบ้างเป็นอันขาด  ควรจะดูไว้เพื่อพิจารณาเฉย ๆ  เนื่องจากป้ายรถเมล์บางป้าย  บอกสายรถเมล์ที่ผ่านไปแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน  เช่นผมเห็นป้ายรถเมล์บางป้ายยังมีสาย 55 ผ่านอยู่เลยครับ  ซึ่งได้เลิกไปแล้วตั้งแต่ผมจำความได้   รวมถึงเนื่องจากปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางรถเมล์เป็นรายวัน โดยเฉพาะรถร่วมบริการ  จะเลิกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้  ดังนั้นทางที่ดี ถ้าไม่แน่ใจ  ควรจะถามเจ้าถิ่นแถว ๆ นั้นดีกว่าครับ หรือถามคนที่รอรถเมล์ด้วยกัน  เพื่อจะได้ไม่รอเก้อ

แต่ที่พิเศษ  คือ  ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ป้ายฝั่งดอกหญ้า  จะมีพนักงานของ ขสมก. คอยอำนวยความสะดวก คือ จะพยายามบอกสายรถเมล์ที่จอดอยู่  ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการอย่างมาก  แต่อย่างไรก็ตาม  ผู้โดยสารควรที่จะดูดีนะครับ ๆ ว่าลำโพงอยู่ที่ไหน ควรยืนห่าง ๆ ไว้  มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายต่อแก้วหูเป็นอย่างมาก

กลับสู่ รายชื่อหัวข้อ

 

2. การสังเกตรถเมล์ (ที่เราจะขึ้น)

การสังเกตลักษณะรถของรถเมล์ที่เราจะขึ้นนั้น  เป็นสิ่งจะช่วยเราได้อย่างมากครับ แม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นนักสำหรับคนที่สายตาดี  แต่ก็จำเป็นมากสำหรับคนที่ตาไม่ค่อยดี  โดยเฉพาะป้ายที่เป็น "ป้ายตาย" ดังที่ได้กล่าวไปแล้วครับ  เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเป็นสายอะไรก่อนที่รถเมล์จะวิ่งผ่านไปซะก่อน

การสังเกตรถเมล์นั้น  สามารถสังเกตได้จาก 2 สิ่งด้วยกัน  ได้แก่

1. ลักษณะของรถ  เนื่องจากรถเมล์นั้นมีหลายรุ่น  อย่างน้อยถ้าสามารถที่จะแยกว่าเป็นรถของ ขสมก. หรือรถร่วมบริการได้นั้น  ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง (ดูการแยกระหว่างรถ ขสมก. และรถร่วมบริการ  ได้ที่ รายละเอียดเกี่ยวกับรถเมล์ ) แต่ถ้าจะให้ดี  ควรจะพยายามสังเกตลักษณะของรถเมล์สายที่เราจะขึ้น  จะช่วยได้อย่างมากครับ

ตัวอย่างเช่น  ที่มาบุญครอง  รถเมล์แดงของ ขสมก. ที่ผ่าน  ได้แก่

  • ถ้าเป็นรถเมล์สีแดงยี่ห้อ Isuzu ก็จะเหลือเพียงแค่ 2 สาย  ได้แก่  50 และ 34 (ป้ายแดง) หรือ เป็นสาย 50 สายเดียว ในตอนกลางคืน 

  • ถ้าเป็นรถเมล์ยี่ห้อ Mitsu ก็จะเหลือเพียงแค่สาย 36 เท่านั้น 

  • ถ้าเป็นรถเมล์ยี่ห้อ Hino ก็จะเป็นสาย 29, 25, 34, 47

ส่วนจะสังเกตกันอย่างไร  ก็คงจะต้องเป็นเทคนิคส่วนตัวนะครับ  จากการสังเกตในการขึ้นแต่ละครั้ง  ซึ่งคงจะไม่อยากเกินไปครับ

2. เส้นทางของรถ  จะเป็นสิ่งที่ช่วยได้อย่างมาก ในกรณีที่รถเมล์เป็นรถยี่ห้อเดียวกันรุ่นเดียวกันหลาย ๆ สาย  หรืออาจจะใช้ช่วยในกรณีที่จำลักษณะของรถเมล์สายนั้นไม่ได้จริง ๆ

ตัวอย่างเช่น  ที่มาบุญครอง (ฝั่งตรงข้ามมาบุญครอง)  รถเมล์ยี่ห้อ Hino นั้น จะมีหลายสายมาก ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น  แต่เส้นทางที่มาแตกต่างกัน  คือ 

  • ถ้าเลี้ยวซ้ายมาจากสยาม ก็จะเป็นสาย 25 

  • ถ้าเลี้ยวขวามาจากสนามกีฬาแห่งชาติ  ก็จะเป็นสาย 47 

  • และถ้าตรงมาจากโรงแรมเอเชีย  ก็จะเป็นสาย 29 และ 34  ซึ่งไปมาบุญครองเหมือนกัน  เป็นต้น

กลับสู่ รายชื่อหัวข้อ

 

3. ศิลปะการบอกจุดหมายที่จะลง

เนื่องจากรถประจำทางปรับอากาศนั้น ยังคงคิดค่าโดยสารตามระยะทาง  ซึ่งแต่ละสาย  แม้ว่าจะจากจุดเดียวกัน ไปยังจุดเดียวกัน  แต่คนละสาย  ราคารถอาจจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย  หรือบางทีแค่เที่ยวไป กับเที่ยวกลับ อาจจะไม่เท่ากันก็ได้  แม้ว่าระยะทางจะเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคิดมากเรื่องราคาที่แตกต่างกันนี้  เนื่องจากแตกต่างกันไม่มาก  เสียเวลาคิดไปเปล่า ๆ ครับ  สายไหนมา ก็ขึ้นไปเถิดครับ  ประหยัดเวลา

ดังนั้นจริง ๆ แล้ว  สิ่งที่ต้องการแนะนำนี้  ไม่ใช่ศิลปะอะไรหรอกครับ  ที่ต้องการแนะนำ  ก็คงจะมีเพียงแค่ควรบอกสถานที่ที่รู้จักกันแพร่หลาย  ไม่ควรบอกชื่อสถานที่ที่รู้จักกันเฉพาะแห่ง  เนื่องจากถ้าบอกสถานที่ที่กระเป๋าไม่รู้จัก  ท่านกระเป๋าอาจจะเก็บราคาแพงกว่าความเป็นจริงได้ เนื่องจากเข้าใจผิด

กลับสู่ รายชื่อหัวข้อ

 

4. เทคนิคการหาที่นั่งบนรถเมล์

การจะได้ที่นั่งบนรถเมล์นั้น  จำเป็นต้องใช้ศิลปะเล็กน้อยครับ  ซึ่งถ้าเราสามารถทราบถึงธรรมชาติของรถเมล์สายที่เราจะขึ้น  เราก็จะสามารถที่จะขึ้นรถเมล์ก่อนคนอื่น ๆ ได้ครับ

อาทิเช่นดังที่กล่าวในหัวข้อป้ายรถเมล์  ถ้าหากเรารอสาย ขสมก. ที่ได้ ISO  เช่น สาย 29  ที่ต้น ๆ ป้าย  ซึ่งไกลจากป้าย Bus Stop นั้น  แม้เราจะไปถึงประตูก่อน  ท่านพนักงานขับรถก็มักไม่เปิดให้  อาจจะทำให้เราต้องวิ่งตามรถเมล์ไป  กลายเป็นขึ้นทีหลังคนอื่นเขาก็เป็นได้    หรือถ้าเรารอสายรถร่วม เช่นสาย 113  แต่ดันไปรอที่ Bus Stop พอดี  อาจจะทำให้กว่าเราจะขึ้น  คนอื่นก็ขึ้นตั้งแต่ที่ต้น ๆ ป้ายไปเสียแล้ว  เป็นต้น

เมื่อเราสามารถยัดเยียด  เบียดเสียดขึ้นรถเมล์ได้แล้ว  สิ่งที่ต้องการอันดับต่อไป ก็คือ การหาที่นั่ง  ซึ่งบางคนอาจจะมักน้อย  แค่ขึ้นมาได้ก็ดีถมไปแล้ว  เรื่องที่นั่งนั้นเป็นเพียงความฝันด้วย  ก็นับเป็นสิ่งที่ดีครับ  ไม่ต้องเหนื่อยหาหนทาง

เทคนิคหนึ่ง ในกรณีที่ออกไปทำงาน หรือไปเรียนหนังสือในเวลาที่ใกล้เคียงกันตลอดเวลา  และขึ้นสายเดียวตลอด  อาจจะทำให้คุ้นหน้าใครสักคนสองคน  ไม่ว่าจะเป็นที่ป้ายรถเมล์ หรือบนรถเมล์  ดังนั้นควรที่จะสังเกตให้ดีว่าเขาลงรถที่ใด  ถ้าเขาลงทีหลังเรา  ก็ยืนห่าง ๆ เขาไว้   แต่ถ้าเขาลงก่อน  ก็ให้ยืนใกล้ ๆ เขาไว้  จะสามารถเพิ่มโอกาสการได้ที่นั่งได้เป็นอย่างดีครับ

วิธีอื่น ๆ ที่จะสามารถสังเกตว่าใครจะลงก่อนคุณ  ซึ่งอาจจะง่ายกว่าวิธีแรกที่กล่าวไปแล้ว  ได้แก่

  • ในกรณีที่ขึ้นรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ อาจจะใช้วิธีสังเกตตั๋วของคนข้าง ๆ  ถ้าเป็นตั๋วระยะสั้น  ก็แสดงว่าน่าจะลงก่อน

  • ในกรณีที่เส้นทางที่เดินทางนั้น  มีโรงเรียน  มหาวิทยาลัย  บริษัท  ธนาคาร  หรือห้างสรรพสินค้า  อาจจะลองสังเกตสัญลักษณ์ของที่แห่งนั้น  เช่น  เครื่องแบบ  การแต่งกาย  เครื่องหมายต่าง ๆ  แต่อย่างไรก็ตาม  วิธีนี้จะใช้ได้ในกรณีเดินทางตอนเช้าเท่านั้น  เนื่องจากถ้าเป็นเวลาอื่น  อาจจะมีความผิดพลาด  เพราะเขาอาจจะไปห้างสรรพสินค้าเดียวกับเรา ก็เป็นได้

ที่สำคัญที่สุด  อยากจะขอเน้นย้ำนะครับ  ว่า  กรุณาเอื้อเฟื้อ เด็ก สตรีมีครรภ์ หรือ คนชรา ด้วยนะครับ  น้ำใจคนไทยครับผม

กลับสู่ รายชื่อหัวข้อ

 

5. การลงจากรถเมล์

เมื่อมีการขึ้นรถเมล์แล้ว  คงจะต้องมีการลงรถเมล์ตามลงมาแน่นอนครับ  คงจะไม่มีใครที่พิเรนทร์ขึ้นแล้วไม่ยอมลงนะครับ

เมื่อจะลงจากรถเมล์  เราควรตั้งสมาธิ ดูว่ามีใครกำลังจะลง และฟังว่ามีใครกดออดแล้วหรือยัง  ซึ่งถ้ามีคนที่กดออดแล้ว  เราอาจจะใจเย็นได้  ค่อย ๆ ก้าวออกมาเมื่อใกล้ถึงป้าย  แต่ถ้ายังไม่มี  เราควรที่จะค่อย ๆ เดินมาทางลง  กดออด 1 ครั้ง  ขอย้ำนะครับว่าเพียง 1 ครั้ง  และควรระวังให้ดีว่ายังไม่มีใครกด  มิฉะนั้น  ถ้าเกิดการกดมากกว่า 1 ครั้งขึ้นมา  ท่านพนักงานขับรถอาจจะใจดี  แถมให้อีก 1-2 ป้ายรถเมล์  ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย ตามนโยบาลรัฐบาลจริง ๆ ครับผม

แต่กรณีพิเศษ  คือเมื่อคุณรู้สึกว่า พนักงานขับรถของคุณ กำลังนึกว่าอยู่ในสนามแข่งรถอยู่  แข่งกับคันอื่น  เหยียบไม่มีเบรก  คุณควรที่จะรีบมาที่ประตูโดยไว  จับราวให้แน่น ๆ  และกดออดทันทีเท่าที่จะทำได้  เพื่อจะได้ลงป้ายที่ต้องการอย่างปลอดภัยครับผม

กลับสู่ รายชื่อหัวข้อ

 

6. เคล็ดลับในการขึ้นรถเมล์ฟรี

ผมมั่นใจว่า  ในหัวข้อทั้งหมด 6 หัวข้อ  หัวข้อนี้จะสามารถดึงดูดใจได้มากที่สุด  บางคนอาจจะข้ามมาอ่านหัวข้อนี้ก่อนเลย  อย่างว่าครับ  ของฟรี  ใครจะไม่ชอบบ้าง  อยากรู้ว่าจะทำอย่างไร  แต่ผมคิดว่าคงจะไม่มีใครชอบการแถมให้ 1-2 ป้าย (เลย 1-2 ป้าย) จากพนักงานขับรถนะครับ  ทั้ง ๆ ที่ฟรีเหมือนกัน

ก็น่าเห็นใจสำหรับคนที่จะขึ้นเพียง 1-2 ป้าย แล้วจำเป็นต้องซื้อตั๋วใหม่  แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้าท่านกระเป๋าเขามาเก็บเงิน  ผมคิดว่ายอมเถิดครับ  อย่าไปต่อล้อต่อเถียงกับท่านกระเป๋ารถเมล์เลยครับ  มีแต่เสียกับเสีย  ทั้งเสียเงิน และอาจจะเสียหน้า  เมื่อได้รับคำสรรเสริญภาษาดอกไม้ ที่ได้ยินกันทั้งรถจากท่านกระเป๋าเขา  แต่อาจจะลองพูดกับท่านกระเป๋าเขาดี ๆ ขอขึ้นสัก 1-2 ป้าย  ยิ้มหวานให้สักนิด  โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้หญิง และกระเป๋าเป็นชายหนุ่ม   ท่านกระเป๋าคงจะไม่ว่าอะไรหรอกนะครับ

จริง ๆ ก็มีเทคนิคมากมายครับ ในการขึ้นรถเมล์ฟรี  ซึ่งผมทราบมาจากการสังเกตเพื่อนบางคน และผู้โดยสารบางคน  แต่ผมคิดว่าแค่ไม่กี่บาท  น่าจะยอมเสียให้เขาเถอะครับ  เนื่องจากเห็นเขาบ่นว่าขาดทุนอยู่ตลอดเลย (ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าขาดทุนได้อย่างไร)  เดี๋ยวเขาจะยุบ ขสมก. เสีย  จะไม่มีรถเมล์ดี ๆ ขึ้นกันครับผม

กลับสู่ รายชื่อหัวข้อ

 

สุดท้ายนี้  ขอพระเจ้าอวยพระพรทุก ๆ ท่านที่อ่านบทความนี้  ให้ขึ้นรถเมล์  ถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ และทันเวลา นะครับ  ถ้ามีข้อแนะนำใด ๆ  ก็ยินดีรับฟังนะครับ  กรุณาส่งมาที่ ton@followhissteps.com นะครับผม

 

พระเจ้าอวยพรครับผม

โดย ธีรยสถ์ นิมมานนท์

 

เส้นทางรถเมล์ในปัจจุบัน ] เส้นทางรถเมล์ในปี 1981 ] [ คู่มือการขึ้นรถเมล์ ] What's New? ] อัตราค่าโดยสาร ] รายละเอียดเกี่ยวกับรถเมล์ ]

ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15/06/2010

FollowHisSteps.com

ได้รับการสนับสนุน Web Hosting จาก SPAComputer.com, ThaWang.com